ทราบข่าวนี้เมื่อวันที่ ๓ เมษายนที่ผ่านมา จากอีเมล์ที่ได้รับจากเว็บสมุนไพรดอทคอม ก็เลยมาหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข่าวหรือเว็บไซต์ทางการต่างๆแต่หาได้น้อยมากๆ กลับพบแต่ในเว็บส่วนตัวกับเว็บไซต์สมุนไพรหรือเว็บแนวสุขภาพเป็นส่วนมาก เลยรู้สึกแปลกใจว่าวงการแพทย์แผนไทยเราได้รับการสนับสนุนจากทางการจริงหรือ ..

ข้อมูลที่หยิบมาฝากเกี่ยวกับข่าวนี้เราค้นเจอในเว็บไซต์บ้านตุลา ซึ่งได้มาจากข่าวคมชัดลึกค่ะ

และแล้วเมื่อเวลา11.20 น. วันที่ 2 เมษายน ที่ห้อง 920 ชั้น9 ตึก84 ปีรพ.ศิริราชมะเร็งถุงน้ำดีบริเวณท่อน้ำดีก็ได้พรากชีวิต พญ.เพ็ญนภาทรัพย์เจริญ หรือ หมอเพ็ญ สาธารณสุขนิเทศก์เขต 8, 9 กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)

แพทย์แผนปัจจุบันที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปลุกชีวิตแพทย์แผนไทย อย่างไม่มีวันกลับหลังเข้ารับการรักษาตัวครั้งสุดท้ายที่ รพ.ศิริราชเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม2550 และรักษาตัวในโรงพยาบาลเรื่อยมากว่า3 เดือนจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

กว่า20 ปีที่ หมอเพ็ญ ต่อสู้เพื่อวงการแพทย์แผนไทย จากยุคซบเซาข้ามผ่านสู่ยุครุ่งเรือง คนไทยกลับมาให้การยอมรับการรักษาแบบแผนไทยและการใช้สมุนไพรอีกครั้ง กระทั่ง สธ.ก่อตั้งขึ้นเป็นกรมพัฒนาการแผนไทยและการแพทย์ทางเลือกโดยหมอเพ็ญได้รับการแต่งตั้ง
เป็นรองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เมื่อปี 2545

หมอเพ็ญ เป็นแพทย์แผนปัจจุบันคนแรกที่บุกเบิกนำสมุนไพรมาใช้ร่วมกับการรักษาแผนปัจจุบันในโรงพยาบาลวังน้ำเย็น จ.สระแก้วในช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล ซึ่งได้รับความสนใจ มีผู้เข้าศึกษาดูงานทั้งจากในและต่างประเทศ ผลักดันให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของงานแพทย์แผนไทย จึงบรรจุเป็นนโยบายระดับชาติ ถือเป็นต้นแบบให้โรงพยาบาลสังกัด สธ.ทั่วประเทศนำการรักษาแบบแพทย์แผนไทยมาให้บริการผู้ป่วยควบคู่กับการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน จนสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้ป่วยและญาติเป็นอย่างมาก

ความมุ่งมั่นตั้งใจจริงในการศึกษาความรู้เกี่ยวกับแพทย์แผนไทยหมอเพ็ญได้ทุ่มเทเรียนรู้ทั้งภาษาท้องถิ่น ภาษาพื้นเมือง ภาษาโบราณ เพียงเพราะต้องการให้แปลตำรายาแผนโบราณที่ตกทอดสืบต่อกันมาได้ เพื่อนำไปพัฒนาให้ทันสมัยอยู่เสมอ พร้อมกับจัดทำเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์และซีดีรอมเกี่ยวกับแพทย์แผนไทย เผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย

ไม่เพียงเท่านี้ หมอเพ็ญยังมีผลงานวิชาการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรจำนวนมาก อาทิ การศึกษาการประยุกต์ใช้ทฤษฎีการแพทย์แผนไทยในระบบบริการสาธารณสุขของรัฐ การศึกษาและจัดทำโปรแกรมวินิจฉัยตรวจสุขภาพแบบแพทย์แผนไทยกว่า 50 เรื่องเช่น เรื่องยาดองเหล้า ผักพื้นบ้านอาหารต้านโรค คู่มือการดูแลสุขภาพแบบพึ่งตนเอง น้ำสมุนไพร 108 และเรื่องเล่าหมอเพ็ญ1-5 เป็นต้น

รวมถึงมีผลงานวิจัยกว่า20 เรื่องทั้งการศึกษาองค์ความรู้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย (พืชสมุนไพรและการนวดไทยพัฒนาองค์ความรู้สู่ระดับนานาชาติและสนับสนุนให้ประชาชนพึ่งตนเอง) จนมีส่วนสำคัญให้เกิดการมองภาพลักษณ์ของหมอนวดแผนโบราณ แตกต่างจาก หมอนวด ที่เป็นหญิงค้าบริการทางเพศ

ซึ่งการที่หมอเพ็ญสนใจและให้ความสำคัญกับการแพทย์แผนไทยนั้นหมอเพ็ญเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เพราะมีคุณพ่อเป็นหมอพื้นบ้าน จึงคลุกคลีใกล้ชิดกับงานแพทย์แผนไทยมาตั้งแต่เกิด เห็นยาไทยที่คุณพ่อปรุง สามารถรักษาคนหายจากโรคได้จริง ในฐานะลูกก็รู้สึกภูมิใจมาก กอปรกับสมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีโอกาสเรียนรู้งานการช่วยเหลือผู้ป่วยในแถบชนบท สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเบ้าหลอมให้หมอเพ็ญตั้งใจมั่นที่จะเป็น ผู้นำทางด้านนี้ให้ได้

คุณงามความดีของหมอเพ็ญได้รับการยอมรับและเชิดชูเกียรติให้เป็นแพทย์ดีเด่นชนบทประจำปี 2529 จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลม.มหิดลแพทย์ดีเด่นในโรงพยาลประจำอำเภอ ประจำปี 2527 จากแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูถัมภ์แพทย์สตรีที่มีผลงานดีเด่นทางด้านสังคมชนบทประจำปี 2529 จากสมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ศิษย์เก่าดีเด่นและศิษย์เก่าคณะแพทย์ดีเด่นของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปี 2530 2540 และ2541

แม้ตลอดการทำงานของหมอเพ็ญตั้งแต่เข้ารับราชการครั้งแรกที่โรงพยาบาลกบินทร์บุรีเมื่อปี 2523 จนเป็นผอ.รพ.วังน้ำเย็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี ผู้ช่วยอธิบดีกรมการแพทย์ ผอ.สถาบันการแพทย์แผนไทย รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และสาธารณสุขนิเทศก์เขต 8, 9 มีหลายต่อหลายครั้งที่สร้างความท้อถอยและกำลังใจให้แก่นักบุกเบิกผู้นี้ไปพร้อมๆกัน

ดังเช่นครั้งที่ถูกโยกย้ายให้พ้นงานที่รักจากตำแหน่งรองอธิบดีกรมแพทย์แผนไทยฯไปเป็นสาธารณสุขนิเทศก์ สมัย นพ.มงคลณ สงขลา เป็น รมว.สาธารณสุข สร้างความเสียใจและท้อแท้ต่อการทำงานให้แก่หมอเพ็ญเป็นอย่างยิ่ง แต่การที่ลูกศิษย์หมอนวดแผนไทยและคนในวงการแพทย์แผนไทยเข้ามอบดอกกุหลาบเป็นกำลังใจ จึงเป็นดั่งการชุบพลังให้หมอเพ็ญลุกขึ้นสู้กับงานอีกครั้ง และพร้อมจะทำงานในตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับ พร้อมยืนยันเสมอว่า ไม่ว่าอยู่ที่ไหนจะทุ่มเททำงานให้การแพทย์แผนไทยตลอดไป

ถึงแม้วันนี้หมอเพ็ญจะจากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับ ด้วยวัย 56 ปีหากได้พิสูจน์ให้ประจักษ์แล้วว่า เป็นผู้นำผู้บุกเบิกงานด้านการแพทย์แผนไทยของเมืองไทย สมดังความตั้งใจแต่ครั้งยังเด็ก จากนี้มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนาจะสานต่อความมุ่งมั่นตั้งใจช่วยพัฒนาวงการแพทย์นี้เจริญยิ่งขึ้นซึ่งระหว่างวันที่ 2-4 เมษายนที่ศาลา 9 วัดชลประทานรังสฤษฏ์จะมีพิธีสวดพระอภิธรรมศพ และวันที่ 5 เมษายนจะประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ ในการนี้ ประชาชนสามารถร่วมบริจาคเงินเข้ากองทุน พญ.เพ็ญนภาทรัพย์เจริญ เพื่อซื้อเครื่องช่วยหายใจให้โรงพยาบาลกบินทร์บุรีได้ภายในงาน

ขอให้ พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ หลับให้สบาย

ที่มา http://www.thaioctober.com/forum/index.php?topic=867.msg30347

==================================

อ่านข่าวเพิ่มเติมอีกแหล่งข่าวหนึ่งที่นี่ค่ะ http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9510000039294

หน้าที่การทำงานในอดีต ของแพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ
วุฒิการศึกษา พ.บ. (เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
บริหารการสาธารณสุขมูลฐานมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล

– ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวังน้ำเย็น จังหวัดปราจีนบุรี(เดิม)
– นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี
– นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี และ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย
– นายแพทย์ใหญ่กรมการแพทย์และผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทยกรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข
– ผู้ช่วยอธิบดีกรมการแพทย์ และผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
– รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

ขอร่วมไว้อาลัยแด่ท่านอาจารย์ หมอเพ็ญ(แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ) ด้วยความเคารพ และขอบพระคุณ มา ณ ตรงนี้ค่ะ

One Comment

  1. ย้อนกลับมาอ่านอีกครั้ง เพราะวันก่อนได้รับอุปกรณ์ประยุกต์ทางการแพทย์แผนไทยที่เพื่อนส่งมาให้ ที่คิดค้นโดยท่านอาจารย์หมอเพ็ญ และอีกหลายตำราที่คิดค้นและวิจัยโดยท่านนะคะ เรียกท่านว่าอาจารย์ได้เต็มปากเพราะเคยได้รับการสอนจากท่านซึ่งรับรู้ถึงความมุ่งมั่นต่อสู้อย่างมาก(แต่เวลานั้น เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าท่านผ่านอะไรมาบ้าง) ขอขอบคุณท่านอีกครั้ง ณ ตรงนี้ค่ะ _/|\_

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *