พอดีจะหาข้อมูลเรื่องวัคซีน ก็เลยรวบรวมมาให้ที่นี่ด้วย เผื่อใครสนใจหัวข้อคร่าวๆตามนี้

เปรียบเทียบ ข้อมูลวัคซีน ป้องกันโรค โควิด-19

ที่มา เกาะติดสถานการณ์ COVID-19 (

ในสถานการณ์โลกที่ผู้ป่วยโควิด -19 ยังคงเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ผู้คนทั่วโลกล้วนฝากความหวังไว้กับวัคซีนในการเอาชนะวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งหลายประเทศกำลังทำการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงของการศึกษา วิจัย ทดลอง ทั้งในระยะศึกษาในสัตว์ทดลอง และในมนุษย์ มากกว่า 100 ชนิด ซึ่งวัคซีนทุกตัวต้องผ่านการศึกษาวิจัย และการขออนุมัติการผลิต

จากข้อมูลปัจจุบัน ถึงวันที่ 15 มกราคม 2564 วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่อนุมัติให้ใช้เป็นการเร่งด่วน (อย่างน้อยใน 1 ประเทศขึ้นไป) มีทั้งหมด 8 ชนิด ส่วนวัคซีนตัวอื่นๆ ยังคงอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัย ซึ่งต้องรออัปเดตข้อมูลต่อไป

โดยวัคซีนทั้งหมดที่อยู่ในการศึกษาและรวมถึงที่อนุมัติให้เริ่มใช้ได้แล้วในบางประเทศ แบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ชนิด

วัคซีนชนิดที่ 1 “mRNA vaccine”

ผลิตจากสารพันธุกรรมของไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 หรือไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เมื่อฉีดวัคซีนเข้ามาในร่างกายมนุษย์ ตัวสารพันธุกรรมจะทำร่างกายมนุษย์สร้างโปรตีนที่สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา ซึ่งวัคซีนในกลุ่มนี้ที่มาแรงที่สุดตอนนี้ คือ วัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์ ไบโอเอ็นเทค (Pfizer BioNTech) และของบริษัทโมเดอร์นา (Moderna) ประเทศสหรัฐอเมริกา

  • ข้อดีของวัคซีนตัวนี้ คือ ผลิตง่าย รวดเร็ว ขั้นตอนการผลิตไม่ยุ่งยาก และราคาไม่สูงมาก
  • แต่มีข้อจำกัดคือ เนื่องจากวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ ที่เคยมีใช้ทั่วโลกก่อนหน้านี้ ยังไม่มีวัคซีนตัวไหนที่ผลิตโดยเทคโนโลยีนี้ ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยในระยะยาวและประสบการณ์การใช้อาจมีไม่มากนัก
  • นอกจากนี้วัคซีนในกลุ่มนี้ยังจำเป็นต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำมาก เช่น -70 หรือ -20 องศาเซลเซียส เพื่อให้คงประสิทธิภาพไว้ได้

วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ ไบโอเอ็นเทค (Pfizer/BioNTech) ประสิทธิภาพของวัคซีน ตามที่ตีพิมพ์ออกมาล่าสุด อยู่ที่ประมาณ 95% โดยให้วัคชีน 2 ครั้ง ห่างกัน 3 สัปดาห์ โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ การเก็บรักษาวัคซีนต้องเก็บที่อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส ด้านผลข้างเคียงรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่พบว่าเกี่ยวข้องกับการรับวัคซีน

วัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา (Moderna) ประสิทธิภาพของวัคซีน ตามที่ตีพิมพ์ออกมาล่าสุด อยู่ที่ประมาณ 94% โดยให้วัคซีน 2 ครั้ง ห่างกัน 4 สัปดาห์ โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ การเก็บรักษาวัคซีนต้องเก็บที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส (ได้นาน 6 เดือน) หรือเก็บที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส (ได้นาน 1 เดือน) ด้านผลข้างเคียงรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่พบว่าเกี่ยวข้องกับการรับวัคซีนเช่นกัน

วัคซีนชนิดที่ 2 “viral vector vaccine”

โดยใช้หลักการฝากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เข้าไปในไวรัสพาหะชนิดอื่นๆ เช่น adenovirus เพื่อพาเข้ามาในร่างกายมนุษย์ และทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมาได้ โดยวัคซีนในกลุ่มนี้ ตัวที่มาแรง ได้แก่ วัคซีนของบริษัท AstraZeneca ร่วมกับ University of Oxford ของประเทศอังกฤษ

  • ข้อดีของวัคซีนในกลุ่มนี้ คือ เป็นวัคซีนที่เลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติ ผลิตได้ง่าย เร็ว ราคาไม่สูง
  • ข้อด้อยของวัคซีน คือ ยังไม่มีประสบการณ์ใช้ในวงกว้าง และในผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสที่ใช้เป็นพาหะมาก่อน วัคซีนอาจกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันที่ไม่ดีมากนัก

ซึ่งวัคซีนตัวนี้เป็นตัวที่รัฐบาลไทยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากมหาวิทยาลัย Oxford และบริษัท AstraZeneca ซึ่งคาดว่าจะทยอยส่งมอบล็อตแรก จำนวน 26 ล้านโดส ในเดือนพฤษภาคม 2564 นี้ ทั้งนี้วัคซีนของบริษัท AstraZeneca ใช้ไวรัส Adenovirus ของลิงชิมแปนซี เป็นไวรัสพาหะ และจากการศึกษาวิจัยพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพเฉลี่ยโดยรวม 70% (โดยกลุ่มอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนครึ่งโด๊ส ตามด้วย 1 โด๊ส ประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ 90% และอาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับวัคซีน 2 โด๊ส ประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ 62%) โดยให้วัคซีน 2 ครั้ง ห่างกัน 4 สัปดาห์ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ การเก็บรักษาวัคซีนสามารถเก็บได้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศา (อย่างน้อย 6 เดือน) ด้านผลข้างเคียงพบว่าอาการที่รุนแรงที่เกิดขึ้นไม่พบว่าเกี่ยวข้องจากการรับวัคซีน

วัคซีนชนิดที่ 3 “วัคซีนแบบใช้โปรตีน (protein-based vaccine)”

ซึ่งเป็นวัคซีนที่ประกอบด้วยโปรตีนของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) โดยอาจใช้เป็นชิ้นส่วนโปรตีนของไวรัส เช่น โปรตีนส่วนหนาม (spike protein) เป็นต้น

  • ข้อดีของวัคซีนชนิดนี้ คือ ผลิตได้ง่าย รวดเร็ว ราคาไม่แพง และเคยมีประสบการณ์การใช้มาก่อน แต่อาจต้องใช้สารเสริมฤทธิ์ (adjuvant) เพื่อให้การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันดี
  • วัคซีนในกลุ่มนี้ที่มาแรง ได้แก่ วัคซีน Novavax ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยในคน ระยะที่ 3

วัคซีนชนิดที่ 4 “วัคซีนเชื้อตาย (inactivated vaccine)”

ซึ่งผลิตโดยการใช้ไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ที่ถูกทำให้ตายแล้ว วัคซีนตัวที่มาแรงในกลุ่มนี้ ได้แก่ วัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac) ซึ่งเป็นของบริษัทซิโนแวค (SinoVac) ประเทศจีน

  • ข้อดีของวัคซีนในกลุ่มนี้ คือ ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีมานาน จึงมีประสบการณ์และความมั่นใจในการใช้เป็นอย่างดี
  • แต่ข้อจำกัด คือ ราคาวัคซีนอาจจะค่อนข้างสูง เนื่องจากกรรมวิธีในการผลิตต้องดำเนินการในห้องปฏิบัติการที่มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในระดับที่ 3 สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีน จากการศึกษาล่าสุดในประเทศบราซิลพบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนเฉลี่ยอยู่ที่ >50.3% (รวมอาสาสมัครที่ติดเชื้อทั้งที่มีอาการรุนแรงและไม่รุนแรง) โดยให้วัคชีน 2 ครั้ง ห่างกัน 2-4 สัปดาห์ โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ การเก็บรักษาวัคซีนสามารถเก็บได้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส สำหรับผลข้างเคียงที่รุนแรงของวัคซีน ยังไม่มีรายงานจากการวิจัยทดลองระยะที่ 3

วัคซีนตัวนี้จะนำเข้าในประเทศไทยล็อตแรกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 2 แสนโด๊ส และเดือนมีนาคม 2564 อีก 8 แสนโด๊ส จากที่สั่งซื้อทั้งหมด 2 ล้านโดส (ข้อมูลตามที่รัฐบาลแถลง)

สำหรับกลุ่มประชาชนที่จะได้รับวัคซีน CoronaVac ล็อตแรก จำนวน 2 แสนโดส ในเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลได้จัดไว้ 4 กลุ่ม ได้แก่

  1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
  2. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค
  3. ผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
  4. ผู้ที่มีโรคประจำตัว

ในปัจจุบันการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (new normal) ถือเป็นวิธีการป้องกันโรคที่ดีที่สุด คือ การสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างทางสังคม ล้างมือบ่อยๆ โดยยังคงเป็นสิ่งที่เราต้องทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งการปฏิบัติตนเช่นนี้ ไม่เพียงช่วยป้องกันโรคโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังสามารถป้องกันโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ได้อีกด้วย

ข้อมูลโดย รศ.ดร.พญ.ทวิติยา สุจริตรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ข้อมูลอัปเดต วันที่ 16 มกราคม 2564)


ประสิทธิภาพของวัคซีน จากแหล่งข่าว https://www.hfocus.org/content/2021/02/21129

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ทั่วโลกมีมาตรการต่างๆ และมีวัคซีนตั้งแต่ธ.ค. และมาตอนนี้อุบัติการณ์ของโลกก็เริ่มลดลง จากสูงสุดป่วย 6 แสนคนต่อวัน ตอนนี้ลงมาถึง 3-4 แสนคนต่อวัน ซึ่งก็ลดลงมาแต่ก็ยังดีใจไม่ได้ ก็ต้องมีมาตรการอื่นๆด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันวัคซีนทั่วโลกมีกี่ชนิด อันดับแรกคือ วัคซีนชนิด mRNA ซึ่งปัจจุบันมีของไฟเซอร์ และโมเดอนา แต่ติดเรื่องการจัดเก็บรักษาต้องแช่แข็งติดลบ 20-70 องศา การขนส่งจะยากลำบากสำหรับประเทศไทย จึงมีวัคซีนอีกชนิด คือ Virus Vector เป็นการนำเข้าสารพันธุกรรมด้วยไวรัส และทำให้การทำงานต่างๆ ในการสร้างโปรตีนไม่ต่างจาก mRNA ดังนั้น Virus Vector จึงเป็นทางออกเพราะสามารถเก็บรักษาได้ในความเย็น 2-8 องศา ซึ่งก็โชคดีที่ไทยมีวัคซีนจากออกซ์ฟอร์ด และแอสตราเซเนกา ให้เห็นว่าวัคซีนตัวนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกัน หากไม่ฉีดก็จะติดโรคเพิ่มขึ้น แต่หากฉีด แม้ป้องกันได้ไม่ 100% ก็ยังป้องกันได้ต่างจากไม่มีเลย และเมื่อป่วยแล้วส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนอีกหลายชนิด อย่างของรัสเซีย ที่เรียกว่า สปุตนิก-วี และยังมีวัคซีนจากจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ซึ่งฉีดเข็มเดียว

ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า ส่วนวัคซีนที่มาเมืองไทยแล้ว คือ ซิโนแวค วัคซีนเชื้อตายที่จะฉีดในวันพรุ่งนี้(28 ก.พ.) โดยเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างดี โดยป้องกันความรุนแรงของโรค อย่างอาการน้อยที่เรียกว่า เกรด 3 คือ ป่วยแล้วต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ แม้จะเป็นผู้ป่วยนอกสามารถป้องกันได้ 78% แต่หากป้องกันการป่วยที่ต้องเข้ารพ. สามารถป้องกันได้ 100% แต่หากป่วยเล็กน้อยตั้งแต่เกรด 2 คือ ติดเชื้อแต่ไม่ต้องดูแลทางการแพทย์ก็จะลดลงเหลือประมาณ 50% จึงถือว่ามีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้อย่างดี ส่วนที่คำถามว่า เพราะอะไรต้องฉีดอายุ 18-59 ปี ต้องแจงว่า เพราะวัคซีนตัวนี้เป็นตัวใหม่ และการศึกษาระยะที่ 1 ,2 และ 3 ที่ศึกษาในคนมีการศึกษาคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมีประมาณ 3% ไม่ถึง 4% ดังนั้น หากให้กับผู้อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปผลในการป้องกันโรคเป็นอย่างไร อาการแทรกซ้อนเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นข้อห้าม แต่ขอให้รอการศึกษาสักนิดนึงประมาณ 1-2 เดือนอาจมีข้อมูลมากขึ้น และค่อยมาปรับอีกครั้ง จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรี อายุเกิน 60 ปีแล้ว จึงต้องรอ เพื่อเป็นไปตามกฎเกณฑ์เป็นหลักก่อน

ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า วัคซีนอีกตัวเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการพูดถึงโนวาแวกซ์ (Novavax) จนมีคนเรียกร้องว่าทำไมไม่เอาเข้า จริงๆ วัคซีนตัวนี้เปรียบเทียบเหมือนวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี โดยการสังเคราะห์โปรตีนจากสิ่งมีชีวิต คือ เซลล์แมลง หรือเซลล์ยุง โดยจะนำมารวมกับตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายเรา ที่เรียกว่า Matrix -M adjuvant ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ โดยได้มาจากสมุนไพรจากพืชชนิดหนึ่งในชิลี จึงต้องเรียนว่า วัคซีนตัวนี้ผลิตในอเมริกา กำลังรอขึ้นทะเบียนฉุกเฉินในสหรัฐ ขณะนี้ยังไม่ขึ้นทะเบียน จึงต้องรอก่อน ดังนั้น ขณะนี้ไทยมี 2 ตัว คือ ซิโนแวค และแอสตราฯ

“สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีนทั้ง 2 ตัว มีประสิทธิภาพไม่ต่างกัน โดยป้องกันความรุนแรง ป้องกันไม่ให้เสียชีวิตจากโรค ดังนั้น หากมีวัคซีนก็จะรีแล็กซ์เพิ่มขึ้น ส่วนที่หลายคนบอกว่าควรฉีดหรือไม่ ผมบอกได้เลยว่า ไม่ต้องเสียเวลาคิด เพราะนอกจากป้องกันตัวเราเองแล้ว ยังป้องกันคนรอบข้างเราด้วย เมื่อป้องกันตัวเรา ป้องกันเขา เมื่อฉีดมากๆ ก็จะทำให้โรคลดลง และไม่มีโรคนี้ได้ จึงขอเชิญชวนให้ฉีดวัคซีน เป็นการฉีดวัคซีนเพื่อชาติ เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเรากลับมา เศรษฐกิจก็จะได้ฟื้นกลับมา” ศ.นพ.ยง กล่าว และว่า ส่วนที่ว่าจะฉีดเมื่อไหร่นั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขมีกฎเกณฑ์ออกมา เรียงลำดับไว้เรียบร้อยแล้ว ว่า ใครเสี่ยง ใครไม่เสี่ยง เมื่อถึงลำดับของเรา ไม่ต้องรีรอก็ไปฉีดได้เลย

ขณะนี้ทั่วโลกฉีดไปแล้วมากกว่า 220 ล้านโดส โดยมีบางประเทศฉีดเข็มแรกครอบคลุมประชากรไปแล้ว 80% เช่น อิสราเอล ซึ่งโรคก็เริ่มลดลง โดยอิสราเอลขึ้นทะเบียนวัคซีนเมื่อ 11 ธ.ค. 2563 โดยเริ่มจากผู้อายุ 60 ปีขึ้นไปก่อน และลงมา 40 ปี และเด็กนักเรียน จนปัจจุบันให้กับทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี จนทุกวันนี้จำนวนผู้ป่วยในอิสราเอลลดลง และอัตราการเสียชีวิตก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แสดงว่าการฉีดวัคซีนหมู่มากก็จะป้องกันโรคได้ดี

ส่วนอาการแทรกซ้อนน่ากลัวหรือไม่นั้น

ต้องบอกว่าจากการฉีดวัคซีนไป 220 ล้านโดสไม่มีใครเสียชีวิตจากวัคซีนแม้แต่คนเดียว แต่ถ้าบอกว่า การฉีดเป็นล้านๆโดสมีคนเสียชีวิตหลังฉีดไปแล้วหรือไม่ ต้องบอกว่า มี แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัคซีนโดยตรง อย่างในสหรัฐ ฉีดไป 13 ล้านคนใน 1 เดือน โดยแพ้อย่างรุนแรงทันทีพบ 5 ในล้านคน แต่ไม่มีใครเสียชีวิต และใน 13 ล้านคนมีการเสียชีวิต 113 คน แต่สืบสวนสาเหตุอย่างละเอียด ทั้งผ่าศพ ฯลฯ พบว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ จากโรคประจำตัวเดิม ส่วนอาการแพ้เล็กน้อย ย่อมมี ทั้งการเจ็บบริเวณฉีด มีไข้เล็กน้อย เป็นเรื่องปกติ ส่วนที่ว่าต้องจำเป็นตรวจภูมิต้านทานก่อนและหลังฉีดหรือไม่ ต้องบอกว่า ขณะนี้ไม่ได้จำเป็น ประชาชนไม่ต้องดิ้นรนไปตรวจภูมิฯ เพราะระดับงานวิจัยจะมีทำอยู่แล้ว

สำหรับอายุ 90 ปีฉีดได้หรือไม่

ไม่มีข้อแม้ เพราะวัคซีนแอสตราฯ สามารถฉีดได้ แต่วัคซีนซิโนแวคยังไม่มีข้อมูลเกิน 60 ปี ขอรอข้อมูลก่อน ส่วน

เด็กควรได้รับวัคซีนหรือไม่

ควร แต่จะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะได้รับ เพราะขณะนี้ทำการศึกษาในกลุ่มอายุ 16-18 ปี ซึ่งขณะนี้หลายบริษัทกำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่ โดยหลังจากฉีดในผู้ใหญ่เต็มที่แล้ว เด็กจะเป็นกลุ่มสุดท้าย เพราะส่วนใหญ่เด็กเป็นโรคนี้อาการจะไม่รุนแรง

สำหรับวัคซีนโควิดควรฉีดพร้อมวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือไม่

เพราะใกล้ถึงฤดูกาลฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ต้องเรียนว่า วัคซีนโควิดเป็นวัคซีนใหม่ จึงไม่อยากให้ฉีดพร้อมกับวัคซีนตัวอื่น เนื่องจากหากมีอาการข้างเคียงจะไม่รู้ว่าเกิดจากวัคซีนชนิดไหน จึงขอให้ฉีดห่างกันประมาณ 2 สัปดาห์ แต่ก็มีข้อยกเว้น เช่น หากฉีดวัคซีนโควิดไปแล้ว แต่วันรุ่งขึ้นถูกสุนัขกัด และจำเป็นต้องฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า มีความจำเป็นต้องชีวิต อันนี้ต้องฉีดตาม ส่วนการให้วัคซีนสลับยี่ห้อ เช่น เข็มแรกฉีดซิโนแวค เข็มที่สองไปฉีดของแอสตราฯ ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูล จึงต้องขอเวลาศึกษาติดตามข้อมูลก่อน เชื่อว่าน่าจะ 3-4 เดือนจะมีข้อมูลตรงนี้เข้ามา ซึ่งหากมีข้อมูล อนาคตอาจไม่ต้องกันวัคซีนยี่ห้อเดิมในเข็มสอง” ศ.นพ.ยง กล่าว

มีคำถามว่าเมื่อฉีดวัคซีนแล้วจะเป็นโรคได้หรือไม่

ต้องบอกว่าได้ แต่ส่วนใหญ่จะอาการน้อยลง ลดความรุนแรงเข้ารพ. และเสียชีวิต ถึงป่วยอาการก็จะน้อยลง เหลือแค่หวัดธรรมดา และหากเป็นโควิดแล้วต้องฉีดวัคซีนหรือไม่ จากข้อมูล ณ ขณะนี้ เมื่อเป็นโควิดแล้ว ภูมิต้านทานสร้างขึ้นมา แต่ไม่ได้อยู่ตลอดไป จากการศึกษาเมื่อเป็นโควิดหลัง 3 เดือน เมื่อตรวจภูมิต้านทานจำนวน 300 คน พบว่า 90% มีภูมิต้านทานอยู่ และจะค่อยๆลดลงไปหลัง 6 เดือน ดังนั้น เมื่อเป็นโควิดแล้ว และอยากฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ขอให้ไปฉีดหลังเป็นแล้วหลัง 6 เดือนขึ้นไป

ส่วนกรณีหากฉีดวัคซีนครบแล้ว จำเป็นต้องฉีดซ้ำอีกหรือไม่

ก็ต้องรอการศึกษาอีกสักระยะว่า หากภูมิตกลงอาจต้องกระตุ้นอีก แต่ขอรอข้อมูลก่อน และอีกประเด็นกรณีคนท้อง และให้นมบุตรจะฉีดวัคซีนได้หรือไม่ ต้องเรียนว่า วัคซีนปกติอย่าง วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตายก็ฉีดได้ แต่วัคซีนโควิดยังเป็นตัวใหม่ และไม่เคยศึกษาในคนท้อง จึงยังไม่ให้ฉีด ยกเว้นคนท้องคนนั้นเสี่ยงมาก เช่น เป็นบุคลากรด่านหน้า ก็อาจต้องพิจารณาเป็นกรณีไป โดยต้องเปรียบเทียบระหว่างความเสี่ยงกับผลที่จะได้ ซึ่งในทางปฏิบัติการฉีดวัคซีนต้องตรวจตั้งครรภ์หรือไม่ จริงๆไม่ต้อง แต่ถ้ารู้ว่าตั้งครรภ์เมื่อไหร่ เข็มต่อไปก็ไม่ต้องฉีด

นพ.ยง ภู่วรวรรณ บอกในเฟสบุคว่า ทำไมวัคซีน Sinovacฉีดให้กับผู้มีอายุ 18 ถึง 59 ปี


ข้อมูลเพิ่มเติม จากคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล 

https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1467

เรื่องน่ารู้ “หลังฉีดวัคซีน COVID-19”

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิกและอาจารย์สาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

การฉีดวัคซีน COVID-19
ในประเทศไทยมีวัคซีนจากบริษัท AstraZeneca และ Sinovac ซึ่งทั้ง 2 วัคซีนมีประสิทธิภาพดีไม่ต่างกัน แต่สามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงหลังจากฉีดได้เป็น 2 กรณี ดังนี้
1. อาการที่สามารถคาดเดาได้
– ปวด บวม แดงร้อน บริเวณที่ฉีด
– ครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้
ส่วนน้อยบางราย มีอาการไข้สูง ต้องนอนพัก 2-3 วัน แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ส่งผลรุนแรงต่อร่างกาย เมื่อมีอาการ สามารถกินยาลดไข้ได้ตามปกติ
2. อาการที่ไม่สามารถคาดเดาได้
– อาการแพ้วัคซีน พบได้น้อยมาก มีทั้งแบบรุนแรงและไม่รุนแรง
– อาการที่แพ้รุนแรง ซึ่งมักจะพบได้ภายใน 30 นาที หลังฉีดวัคซีน เช่น หน้ามืด เป็นลม ใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก มีผื่น ผื่นลมพิษ หน้าบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน  อาการเหล่านี้จะรุนแรงมาก หากเกิดหลังจากการฉีดวัคซีน 30 นาที
ดังนั้นควรสังเกตอาการหลังจากการฉีดวัคซีน COVID-19 ภายใน 30 นาที ในสถานพยาบาลที่ท่านรับการฉีด ซึ่งหากมีอาการแพ้เกิดขึ้น ก็สามารถทำการฉีดยาแก้แพ้ และให้การรักษาได้ทันที
หลังจากได้รับวัคซีนแล้ว ควรสังเกตอาการต่อที่บ้าน ซึ่งหากเกิดอาการหลังได้รับวัคซีนมากกว่า 30 นาที  อาการมักไม่รุนแรง แต่จำเป็นต้องบันทึกความผิดปกติทุกอย่างที่พบหลังจากการฉีดวัคซีนลงใน Application หมอพร้อม

ผู้ที่มีประวัติการแพ้ สามารถฉีดวัคซีน COVID-19 ได้หรือไม่?

ไม่ว่าจะมีประวัติแพ้อะไรก็ตาม แต่ไม่ได้แพ้วัคซีน COVID-19 สามารถฉีดวัคซีน COVID-19 ได้ตามปกติ หลังจากที่ฉีดวัคซีนแล้ว ผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้รุนแรงในอดีต ก็สามารถมีอาการแพ้วัคซีน COVID-19 มากกว่าคนที่ไม่มีประวัติแพ้ต่างๆมาก่อน แต่ก็ไม่จำเป็นว่าผู้ที่มีประวัติแพ้ต่าง ๆ จะแพ้วัคซีน COVID-19

ในผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ต่าง ๆ สามารถกินยาแก้แพ้ชนิดที่ไม่ง่วงนอน 30 นาที – 1 ชั่วโมง ก่อนการรับวัคซีน COVID-19 ก็จะสามารถบรรเทาอาการแพ้เล็กน้อยไปได้
ส่วนผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ  เช่น ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ หากติดเชื้อ COVID-19 แล้ว มักจะมีอาการรุนแรง ดังนั้นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ควรได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 และควรปรึกษาจากแพทย์ก่อนเข้ารับการฉีด

ผู้หญิงตั้งครรภ์สามารถฉีดวัคซีน COVID-19 ได้หรือไม่ ?

          ผู้หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ COVID-19 และมีอาการรุนแรง แต่ในปัจจุบันยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีน  COVID-19  ในหญิงตั้งครรภ์  ยกเว้นผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงสูง อาจจะพิจารณาเป็นรายบุคคล  โดยวัคซีนบางตัวมีความปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์ แต่สำหรับวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยยังต้องการข้อมูลความปลอดภัยต่อหญิงตั้งครรภ์เพิ่มเติมก่อนที่จะอนุมัติให้ใช้ทั่วไป

สุดท้ายนี้หากท่านมีโอกาสได้รับวัคซีน COVID-19 ขอแนะนำให้รีบไปรับการฉีดวัคซีน COVID-19 เร็วที่สุด หากเราได้รับวัคซีน COVID-19 ครบแล้ว จะป้องกันอาการป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อ COVID-19 ได้และไม่ต้องนอนโรงพยาบาล   แต่หลังจากฉีดวัคซีน COVID-19 แล้ว  ยังจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง เพราะอาจจะมีการติดเชื้อ แบบไม่มีอาการ และไม่รุนแรงเกิดขึ้นได้ จนกว่าจำนวนประชากรในประเทศไทยจำนวนมาก หรือเกือบทั้งหมด จะได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 แล้ว เราถึงจะถอดหน้ากากพร้อมๆ กันได้

วัคซีน COVID-19 กับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฉีดพร้อมกันได้หรือไม่ หรือควรฉีดอะไรก่อน ?

          ไม่ควรรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่กับวัคซีน COVID-19 พร้อมกัน แนะนำควรฉีดห่างกันอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์เป็นอย่างต่ำ หากสามารถเลือกฉีดวัคซีน COVID-19 ได้ก่อน ควรเลือกฉีดวัคซีน COVID-19 เป็นอย่างแรก หรือหากยังไม่สามารถได้รับวัคซีนในเร็วๆ นี้ แนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไปก่อน

ผู้ที่เคยเป็น COVID-19 ยังต้องฉีดวัคซีนอีกหรือไม่

ควรฉีดวัคซีน COVID-19 หลังจากหายป่วยจาก COVID-19 แล้วอย่างน้อย 3-6 เดือน และฉีดเพียงเข็มเดียวก็เพียงพอ เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานให้อยู่ยาวนาน


รวมบทความที่น่าสนใจจากแหล่งข่าวเพิ่มเติม

ที่มา จากแหล่งข่าว BBC.com : https://www.bbc.com/thai/thailand-55623129

  • เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับวัคซีนของซิโนแวค

1. ซิโนแวคทำอะไร

“ซิโนแวค” หรือชื่อเต็มว่า ซิโนแวค ไบโอเทค เป็นบริษัทผู้ผลิตยาและชีวเภสัชภัณฑ์สัญชาติจีน ตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง เชี่ยวชาญการวิจัย พัฒนา ผลิต และจำหน่ายวัคซีนป้องกันโรคระบาด ก่อตั้งในปี 1999 โดยนายหยิน เว่ยตง อดีตเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของจีน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง

ก่อนหน้านี้ ซิโนแวคเคยผลิตวัคซีนมาแล้วหลายตัว เช่น วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ (ชื่อทางการค้า Healive) วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี (ชื่อทางการค้า Bilive) วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ ชนิด H5N1 (ชื่อทางการค้า Panflu) และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (ชื่อทางการค้า Anflu)

วัคซีนโควิด-19 ที่ซิโนแวคเป็นผู้ผลิตเป็นวัคซีนเชื้อตายที่มีชื่อว่า “โคโรนาแวค” (CoronaVac) วัคซีนตัวนี้ทำงานโดยการเหนี่ยวนำระบบภูมิคุ้มกันร่างกายมนุษย์ให้สร้างแอนติบอดีต้านโควิด-19 โดยแอนติบอดีจะยึดติดกับโปรตีนบางส่วนของไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์ร่างกาย ไวรัสเชื้อตายเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมที่ถูกใช้มานานกว่าศตวรรษ โดยโจนัส ซัลก์ (Jonas Salk) ได้ใช้เทคโนโลยีวัคซีนเชื้อตายในการสร้างวัคซีนโปลิโอในปี 1955

การใช้เชื้อตายทำให้โคโรนาแวคแตกต่างจากวัคซีนที่ผลิตในโลกตะวันตก อย่างของบริษัทโมเดอร์นา (Moderna) และไฟเซอร์ (Pfizer) ที่เป็นวัคซีน mRNA ซึ่งเป็นการฉีดพันธุกรรมโมเลกุลที่เรียกว่าเอ็มอาร์เอ็นเอเข้าไปในร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างโปรตีนของไวรัสเพื่อกระตุ้นภูมิต้านทาน

China's Sinovac vaccine

ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ,มีการทดลอง “โคโรนาแวค” กับอาสาสมัครกลุ่มใหญ่ในบราซิล อินโดนีเซีย และตุรกี

รองศาสตราจารย์หลัว ต้าไห่ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางให้ข้อมูลกับบีบีซีว่า โคโรนาแวคเป็นวัคซีนในรูปแบบดั้งเดิมที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันโรคที่เกิดจากไวรัสในอดีต เช่น โรคพิษสุนัขบ้า ขณะที่วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ เป็นวัคซีนชนิดใหม่และในปัจจุบันยังไม่มีกรณีตัวอย่างที่ยืนยันถึงความสำเร็จของวัคซีนรูปแบบนี้ในกลุ่มประชากร

การวิจัยพบว่าข้อได้เปรียบหลักอย่างหนึ่งของวัคซีนที่ผลิตโดยซิโนแวค คือมันสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นธรรมดาที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสได้ เช่นเดียวกับวัคซีนของอ็อกซ์ฟอร์ดซึ่งพัฒนาขึ้นจากเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัดในชิมแปนซี ต่างจากวัคซีนของโมเดอร์นาซึ่งต้องเก็บไว้ที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส และวัคซีนของไฟเซอร์ต้องเก็บที่อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส

ถ้าพิจารณาจากอุณหภูมิที่ใช้ในการเก็บวัคซีนจะเห็นได้ว่าวัคซีนของซิโนแวคและของอ็อกซ์ฟอร์ดที่ร่วมผลิตกับ บ. แอสตร้าเซนเนก้า น่าจะเหมาะกับประเทศกำลังพัฒนาที่อาจไม่มีศักยภาพในการเก็บวัคซีนจำนวนมากในอุณหภูมิที่ต่ำขนาดนั้นได้

คำบรรยายวิดีโอ,โควิด-19: เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับวัคซีนของซิโนฟาร์มและซิโนแวคจากจีน

2. “ซีพี” กับ “ซิโนแวค”

หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 5 ม.ค. อนุมัติงบกลางกว่า 1,200 ล้านบาท ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 จำนวน 2 ล้านโดสจากซิโนแวค และต่อมาคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมได้เห็นชอบสำรองงบประมาณในการสั่งซื้อไปก่อน 1 พันกว่าล้านบาท ก็ปรากฏข่าวว่าบริษัท ซีพี ฟาร์มาซูติคอล กรุ๊ป ซึ่งเป็น บริษัทในเครือซีพี ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ได้เข้าถือหุ้น 15.03% ของซิโนแวคตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2563

ซีพีจึงกลายเป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญในการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาลไทย

ข้อมูลจากเว็บไซต์บริษัท ซีพี ฟาร์มาซูติคอล กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทในเครือซีพีของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ดำเนินธุรกิจยาในประเทศจีนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงในนามบริษัท ซิโนไบโอฟาร์มาซูติคอล จำกัด ระบุว่าบริษัทซิโนไบโอฟาร์มาซูติคอลได้ทุ่มเงินกว่า 515 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 15,400 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้น 15.03% ของบริษัทซิโนแวคเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2563

โดยซีพี ฟาร์มาซูติคอลระบุว่า การเข้าถือหุ้นในครั้งนี้จะส่งผลดีต่อทั้งบริษัทและผู้ถือหุ้น และตอบสนองยุทธศาสตร์ของบริษัทในการ “รับผิดชอบต่อสังคมด้วยการช่วยควบคุมการระบาดของโควิด-19 ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนจีนและผู้คนทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นการขยายธุรกิจจากเน้นที่การรักษาเป็นการป้องกันโรค”

ธนินท์ เจียรวนนท์

ที่มาของภาพ,WIWAT PANDHAWUTTIYANON

ขณะที่เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจรายงานคำชี้แจงของซีพีกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงผลประโยชน์ที่บริษัทยาในเครือซีพีได้รับจากการที่รัฐบาลไทยสั่งซื้อวัคซีนจากซิโนแวคจำนวน 2 ล้านโดสว่า ยอดการสั่งซื้อวัคซีนของซิโนแวคจำนวน 2 ล้านโดสของไทย คิดเป็นเพียง 0.33% ของกำลังการผลิต 600 ล้านโดสต่อปี เพื่อกระจายวัคซีนไปทั่วโลก

“นั่นจึงคงไม่ใช่เหตุผลที่ซีพีเข้าไปลงทุนในครั้งนี้” ฐานเศรษฐกิจรายงานคำชี้แจงของซีพี ซึ่งย้ำด้วยว่าบริษัทซิโนไบโอฟาร์มาซูติคอลของซีพีมีหุ้นในซิโนแวคเพียงส่วนน้อยคือ 15.03% และดีลนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ซิโนแวคขยายข้อตกลงจัดหาวัคซีนโคโรนาแวค และทดลองกับหลายประเทศเพิ่มมากขึ้น

3. รัฐบาลไทยมีแผนอย่างไรในการจัดซื้อและแจกจ่ายวัคซีนของซิโนแวค

หลังได้รับอนุมัติจาก ครม.ใ ห้จัดซื้อวัคซีนของบริษัทซิโนแวคจำนวน 2 ล้านโดส วงเงิน 1,228 ล้านบาท นพ. เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้าเรื่องการขึ้นทะเบียนและจัดซื้อวัคซีนจากจีนเมื่อวันที่ 10 ม.ค. ว่าองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อ เป็นตัวแทนจำหน่าย และทำเอกสารเพื่อยื่นขึ้นทะเบียนจากองค์การอาหารและยา คาดว่าจะขึ้นทะเบียนให้ได้ภายในวันที่ 14 ก.พ. โดย อภ. จะสำรองงบประมาณ 1,228 ล้านบาท ในการสั่งซื้อไปก่อน

จากการชี้แจงของปลัด สธ. และ ครม. สรุปปฏิทินการนำเข้าวัคซีนโคโรนาแวคของบริษัท ซิโนแวค และแผนการแจกจ่ายได้ดังนี้

  • ภายใน 14 ก.พ. ขึ้นทะเบียน อย.
  • ภายใน 28 ก.พ. จีนส่งวัคซีนล็อตแรก 2 แสนโดสมาถึงไทย ส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อฉีดให้กับเจ้าหน้าที่ภาคสนามที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เช่น สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จำนวน 20,000 คน และกลุ่มเสี่ยงที่มีสภาวะแทรกซ้อนสูง และกลุ่มจำเป็นอื่น ๆ 180,000 คน
  • มี.ค. จีนส่งวัคซีนล็อตที่สอง 8 แสนโดส แบ่งออกเป็น สำหรับฉีดเข็มที่ 2 ให้ผู้รับวัคซีนกลุ่มที่ 1 จำนวน 200,000 โดส และสำหรับกลุ่มจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและพื้นที่ชายแดน และบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 600,000 โดส รวมจำนวน 600,000 คน และกลุ่มติดเชื้อที่มีภาวะแทรกซ้อนสูงและกลุ่มจำเป็นอื่น ๆ 540,000 คน
  • เม.ย. จีนส่งวัคซีนล็อตที่สาม 1 ล้านโดส โดยจะฉีดเข็มที่ 2 ให้กับกลุ่มที่ฉีดไปแล้ว 600,000 โดสแรก จำนวน 600,000 คน ส่วนอีก 400,000 โดส ให้กับบุคลากรอื่น ๆ เพิ่มเติม

4. วัคซีนของซิโนแวคได้ผลมากน้อยแค่ไหน

บทความวิชาการในวารสารทางวิทยาศาสตร์ เดอะแลนแซต ระบุว่าขณะนี้มีข้อมูลจากการทดลองวัคซีนโคโรนาแวคแค่ในระยะแรกและระยะที่สองเท่านั้น

บทความนี้ยังระบุด้วยว่าผลจากการฉีดวัคซีน ซึ่งอ้างอิงจากผู้เข้าร่วม 144 คนในการทดลองระยะที่หนึ่ง และ 600 คนในการทดลองระยะที่สอง ระบุไว้ว่าวัคซีน “เหมาะสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน”

วัคซีน

ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า มีการตั้งคำถามถึงความโปร่งใสเกี่ยวกับประสิทธิภาพของโคโรนาแวค หลังจากที่บริษัทเปิดเผยผลการทดลองฉีดวัคซีนโคโรนาแวคระยะที่สามในตุรกีว่าได้ผลมากถึง 91.25% แต่บริษัทไม่ได้เปิดเผยตัวเลขจริง

การทดลองระยะที่สามในตุรกีเริ่มขึ้นเมื่อ ก.ย. 2563 โดยมีผู้เข้าร่วมทดลองในเฟสที่สาม 7,000 คน และผลรายงานออกมาเมื่อเดือน ธ.ค. โดยอ้างอิงผลจากผู้เข้าร่วมเพียงแค่ 1,322 คนเท่านั้น โดยทางตุรกีซึ่งมีประชากรมากกว่า 84 ล้านคน ได้สั่งวัคซีนตัวนี้ไปถึง 50 ล้านโดส

ซิโนแวครายงานด้วยว่าอาสาสมัครรับวัคซีน “บางคนมีอาการอ่อนเพลียหรือไม่สบายเพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่เกิน 5%”

ต่อมาในเดือน ต.ค. ได้มีการทดลองวัคซีนตัวนี้ในบราซิลซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่การทดลองก็ต้องหยุดชะงักลงในเดือน พ.ย. หลังจากมีรายงานการเสียชีวิตของอาสาสมัคร แต่กลับมาดำเนินการต่อหลังจากพบว่าการเสียชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงกับวัคซีน

รองศาสตราจารย์หลัว จากมหาวิทยาลัยนันยางให้ความเห็นว่า “จากข้อมูลเบื้องต้นโคโรนาแวค น่าจะเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ แต่เราจำเป็นต้องรอผลการทดลองระยะที่สามที่สมบูรณ์ก่อน”

กราฟิกเรื่องวัคซีน

แม้จะยังมีข้อกังขาในระดับนานาชาติ แต่ นพ. เกียรติภูมิ ปลัด สธ. ยืนยันว่าวัคซีนจากซิโนแวคเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายแบบดั้งเดิม มีความปลอดภัยสูง หลังฉีดยังไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง และคาดว่าจะได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศจีนเร็ว ๆ นี้ เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน

ขณะที่ นพ. นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า จากการศึกษาเปรียบเทียบวัคซีนโควิด-19 ที่มีผลการทดสอบประสิทธิภาพในมนุษย์ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนการขึ้นทะเบียนพบว่า

  • วัคซีนของไฟเซอร์ มีประสิทธิผล 95% โดยฉีด 2 โดส ห่างกัน 21 วัน
  • วัคซีนของโมเดอร์นา มีประสิทธิผล 94.5% ฉีด 2 โดส ห่างกัน 28 วัน
  • วัคซีนของแอสตราเซนเนกา มีประสิทธิผล 62-90% ขึ้นกับปริมาณการฉีด โดยฉีด 2 โดสห่างกัน 28 วัน
  • วัคซีนของรัสเซีย มีประสิทธิผล 92% ฉีด 2 โดส ห่างกัน 14-21 วัน
  • วัคซีนของซิโนฟาร์ม ประเทศจีน มีประสิทธิผล 79% ฉีด 2 โดส ห่างกัน 21 วัน
  • วัคซีนของซิโนแวค ประเทศจีน มีประสิทธิผล 78%

ทั้งนี้วัคซีน 5 ตัวแรก ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศต้นทางแล้ว

5. ประเทศใดบ้างที่สั่งซื้อวัคซีนของจีน

วัคซีนซิโนแวค

ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES

เว็บไซต์ของบริษัทซีพี ฟาร์มาซูติคอล กรุ๊ป รายงานเมื่อต้นเดือน ธ.ค. ว่า มี “หลายประเทศ” สั่งซื้อวัคซีนโคโรนาแวคแล้ว แต่ไม่ได้เปิดชื่อประเทศ หลังจากนั้นไม่นานมีรายงานว่าวัคซีนล็อตแรกส่งมาถึงอินโดนีเซียเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการฉีดวัคซีนให้ประชากรกลุ่มใหญ่ และอีก 1.8 ล้านโดส จะมาถึงภายในเดือน ม.ค.

ไม่กี่วันต่อมาสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบาห์เรนได้อนุมัติวัคซีนจากบริษัทซิโนฟาร์ม ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐบาลจีน เป็นวัคซีนที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับซิโนแวค โดยทางการบาห์เรนระบุว่าประชาชนสามารถลงทะเบียนออนไลน์เพื่อรับวัคซีนได้ฟรี

ขณะที่สิงคโปร์กล่าวว่าได้ลงนามในข้อตกลงการสั่งซื้อล่วงหน้ากับผู้ผลิตวัคซีนรวมถึงซิโนแวค โมเดอร์นา และไฟเซอร์

ด้านซิโนแวคเปิดเผยว่าขณะนี้มีประเทศที่อนุมัติให้ใช้วัคซีนโคโรนาแวคภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว 4 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย บราซิล ตุรกี และชิลี ส่วนในอาเซียนนอกจากอินโดนีเซีและสิงคโปร์แล้ว ไทยและฟิลิปปินส์เป็นอีก 2 ประเทศ ที่สั่งซื้อวัคซีนของซิโนแวคมาใช้


เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับวัคซีนของ แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca)

A medical worker prepares to give a shot of Vaxzevria (formerly AstraZeneca) COVID-19 vaccine at a public health facility in Seoul, South Korea

ที่มาของภาพ,EPA

ความวิตกกังวลที่มีต่อวัคซีนต้านโควิด-19 ของอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า กำลังเพิ่มขึ้นทุกขณะ โดยล่าสุด เดนมาร์กกลายเป็นชาติแรกในยุโรปที่ตัดสินใจยกเลิกการใช้วัคซีนชนิดนี้อย่างถาวร จากความเป็นไปได้ว่าอาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำนักงานการแพทย์ยุโรป (European Medicines Agency หรือ EMA) ประกาศว่ามีความเป็นไปได้ว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเชื่อมโยงกับการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน แต่ความเสี่ยงของประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วเสียชีวิตมีสูงกว่ามาก

ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (MHRA) ของสหราชอาณาจักร ก็ระบุว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากการฉีดวัคซีนชนิดนี้มีมากกว่าความเสี่ยงสำหรับประชากรส่วนใหญ่

ที่ผ่านมา หลายประเทศในยุโรปได้สั่งระงับการใช้วัคซีนนี้เป็นเวลาสั้น ๆ แต่ก็ให้กลับมาใช้แล้วกับประชากรสูงอายุ

วัคซีนนี้อาจสร้างปัญหาอะไร

MHRA กำลังตรวจสอบกรณีพบผู้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังจากเพิ่งได้รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในสหราชอาณาจักร

การตรวจสอบพบว่าผู้ป่วย 79 คน (2 ใน 3 เป็นผู้หญิง) เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก ในจำนวนนี้ 19 คนเสียชีวิต

จนถึงสิ้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ประชาชนในสหราชอาณาจักรได้รับวัคซีนชนิดนี้แล้วไปกว่า 20 ล้านโดส

MHRA ระบุว่า ตามปกติจะมีประชากรราว 4 คนจากใน 1 ล้านคนที่จะมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันเช่นนี้ และการที่เป็นอาการเจ็บป่วยที่พบได้ยากมากจึงทำให้การคาดคะเนอัตราการเกิดขึ้นตามปกติทำได้ยาก

นอกจากนี้ MHRA ยังระบุว่าจนถึงบัดนี้ยังไม่มีการพิสูจน์ยืนยันที่แน่ชัดว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

พญ.จูน เรน หัวหน้า MHRA ระบุว่าแม้ความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนกับภาวะผิดปกตินี้จะเริ่มชัดเจนขึ้น แต่ก็ยังจำเป็นต้องมีหลักฐานมาสนับสนุนมากกว่านี้

เธอชี้ว่า สำหรับประชากรส่วนใหญ่ประโยชน์ที่จะได้รับจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีมากกว่าความเสี่ยงจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 แต่สำหรับกลุ่มคนหนุ่มสาว ปัจจัยดังกล่าวอาจอยู่ในระดับที่เท่าเทียมกัน

Vials of Vaxzevira (formerly AstraZeneca) COVID-19 vaccine in Taoyuan city, Taiwan

ที่มาของภาพ,EPA

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันชนิดที่พบได้ยากนี้คืออะไร

MHRA ได้ศึกษากรณีของผู้มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันซึ่งเกี่ยวข้องกับการมีเกล็ดเลือดในระดับต่ำหลังจากได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

เกล็ดเลือดเป็นเซลล์เม็ดเลือดขนาดเล็กที่ช่วยทำให้เลือดแข็งตัว เพื่อให้เลือดหยุดไหลเมื่อร่างกายเกิดบาดแผล

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่พบอีกชนิดคือ “ภาวะหลอดเลือดดำในสมองอุดตัน” (cerebral venous sinus thrombosis หรือ CVST) ซึ่งไปขัดขวางไม่ให้เลือดไหลเวียนออกจากสมองได้ และอาจนำไปสู่อาการเส้นเลือดในสมองแตก

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันสามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติและพบได้ทั่วไป แต่ไม่ค่อยพบในกลุ่มผู้หญิงอายุน้อย MHRA ชี้ว่า โรคโควิด-19 ก็สามารถทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้มากขึ้นเช่นกัน

อาการแบบไหนที่ต้องระวัง

MHRA ระบุว่าผู้ที่มีอาการดังต่อไปนี้ภายหลังจากได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้ว 4 วันหรือมากกว่านี้ จะต้องรีบขอรับคำแนะนำจากแพทย์

  • ปวดศีรษะรุนแรงต่อเนื่อง
  • ตาพร่ามัว
  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจลำบาก
  • ขาบวม
  • ปวดท้องอย่างต่อเนื่อง
  • ผิวหนังมีรอยช้ำผิดปกติ
  • มีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง (ไม่รวมจุดที่ได้รับการฉีดวัคซีน)
Generic close-up of man with chest pain

ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ,ผู้ที่มีอาการผิดปกติ เช่น เจ็บหน้าอก หลังจากได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้ว 4 วันหรือมากกว่านี้ จะต้องรีบขอรับคำแนะนำจากแพทย์

มีข้อแนะนำอะไรบ้าง

MHRA ไม่แนะนำให้จำกัดอายุผู้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า แต่ระบุว่ากลุ่มคนอายุต่ำกว่า 30 ปีที่ไม่มีโรคประจำตัวควรได้รับการฉีดวัคซีนชนิดอื่นแทน

นี่เป็นเพราะมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า พบกรณีลิ่มเลือดอุดตันในกลุ่มผู้ใหญ่ตอนต้นสูงกว่ากลุ่มอื่นเล็กน้อย

จากข้อมูลในปัจจุบัน MHRA มีข้อแนะนำว่า

  • ผู้มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังจากได้รับวัคซีนโดสแรกไม่ควรรับวัคซีนโดสที่สองต่อ
  • ผู้ที่มีประวัติโรคเลือด (มีความเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตัน) ควรรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าต่อเมื่อประโยชน์มีมากกว่าความเสี่ยงเท่านั้น
  • สตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์เรื่องประโยชน์และความเสี่ยงที่จะได้จากการฉีดวัคซีนชนิดนี้

เมื่อต้นเดือน เม.ย. อังกฤษสั่งพักการทดลองวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในเด็ก ในระหว่างที่มีการตรวจสอบกรณีลิ่มเลือดอุดตันในผู้ใหญ่

ปัจจุบัน เยอรมนี สเปน และอิตาลีได้ระงับการให้วัคซีนชนิดนี้แก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 60 ปี ขณะที่ฝรั่งเศสแนะนำให้ฉีดแก่ผู้มีอายุ 55 ปีขึ้นไป

วัคซีนชนิดนี้ทำงานอย่างไรและป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้หรือไม่

วัคซีนของอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า ทำมาจากไวรัสไข้หวัดทั่วไป (หรือที่รู้จักกันในชื่อ อะดีโนไวรัส-adenovirus) ที่อ่อนแอ โดยนำเชื้อนี้มาจากลิงชิมแปนซีไปดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อที่เชื้อไวรัสนี้จะไม่สามารถขยายตัวในมนุษย์ได้ จากนั้นจะนำยีนที่ได้มาจากปุ่มโปรตีนของเชื้อไวรัสโคโรนาไปใส่ในไวรัสไข้หวัดที่อ่อนแอและไม่เป็นอันตรายต่อคนดังกล่าว

วัคซีนที่ได้จะถูกนำไปฉีดให้กับคนไข้ เซลล์ในร่างกายมนุษย์จะสร้างปุ่มโปรตีนไวรัสโคโรนาขึ้น เป็นการกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันสร้างแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันขึ้น และกระตุ้นให้ที-เซลล์ทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อ

เมื่อคนไข้ได้รับเชื้อไวรัสโคโรนาเข้าสู่ร่างกายจริง ๆ ภูมิคุ้มกันและทีเซลล์ก็จะถูกกระตุ้นให้ต่อสู้กับเชื้อไวรัส

วัคซีนอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า ทำงานอย่างไร

ศาสตราจารย์โจนาธาน แวน แทม รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ของรัฐบาลอังกฤษ ระบุว่า ขณะนี้มี “หลักฐานมากมาย” ที่บ่งชี้ว่าวัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ

อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานน้อยกว่าว่ามันสามารถป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ชนิดอื่น ๆ เช่น สายพันธุ์ที่พบในบราซิล และแอฟริกาใต้


ข้อมูลจากแหล่งข่าวอื่นเพิ่มเติม 

วัคซีนจีนมีหลากหลายแบรนด์ด้วยกัน ดังนี้

  • Sinovac หรือ CoronaVac เป็นวัคซีนที่พัฒนาที่ปักกิ่ง ผลิตโดยบริษัท Sinovac
  • Sinopharm หรือ BBIBP-CorV ผลิตโดยวิสาหกิจจีน มีการพัฒนาวัคซีนจาก 2 แห่งคือที่ปักกิ่งและที่อู่ฮั่น
  • CanSino วัคซีนต้าน COVID นี้พัฒนาโดย CanSinoBIO ใช้ฉีดเพียง 1 โดสเท่านั้น ใช้ adenovirus ของมนุษย์เป็นตัวนำสารพันธุกรรมเข้าสู่เซลส์มนุษย์เพื่อให้สร้างโปรตีนต่อ ซึ่งวัคซีนชนิดนี้ของจีนมีการทำงานแบบเดียวกับวัคซีนของรัสเซีย Sputnik V
  • Anhui Zhifei Logcom & Chinese Academy of Sciences หรือ ZG2001

วัคซีนจีนประสิทธิภาพต่ำ หัวหน้าศูนย์ป้องกันโรคระบาดในจีนยังเป็นกังวล

SCMP เผยว่า ผลการทดลองในบราซิลพบว่าวัคซีน Sinovac นั้นมีประสิทธิภาพ 50.4% ขณะที่ตุรกีมีประสิทธิภาพ 83.5% ซึ่งก่อนหน้านี้องค์การสหประชาชาติเคยระบุไว้ว่าวัคซีนควรมีประสิทธิภาพราว 50%

ในเรื่องของการเตรียมนำวัคซีนประเทศอื่นมาใช้นี้ สื่อท้องถิ่นของจีนรายงานว่า Gao Fu หัวหน้าศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคระบาดจีนกล่าวไว้ในที่ประชุมเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า กำลังพิจารณาที่จะแก้ปัญหาเรื่องประสิทธิภาพของวัควีนที่ใช้อยู่ เนื่องจากยังมีประสิทธิภาพไม่สูงนัก ดังนั้นการแก้ปัญหาคือการจัดหาวัคซีนต้าน COVID ที่มีความหลากหลายมากขึ้น เป็นไปได้ว่าจีนน่าจะจัดหาวัคซีนเพิ่มผ่านกรอบการทูตแบบทวิภาคีหรือการทูตสองฝ่ายหรือที่เรียกว่า การทูตวัคซีนนั่นเอง

เดือนมีนาคมที่ผ่านมา จีนจัดหาวัคซีนให้หลายประเทศทั่วโลกราว 40 ล้านโดส มีทั้งบราซิล เซอร์เบียร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ด้านสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรก็จัดหาวัคซีน Johnson & Jonson ไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วราว 1 พันล้านโดส

Sinovac Biotech วัคซีน จีน
(Photo by Andressa Anholete/Getty Images)

อย่างไรก็ดี FT รายงานว่า ชิลีก็ต้องพึ่งพาวัคซีน Sinovac จากจีนเช่นกัน ซึ่งการศึกษาชิ้นล่าสุดพบว่า ประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนของชิลีแค่เพียง 1 โดส มีประสิทธิภาพเพียง 3% เท่านั้น เมื่อเทียบกับ 2 โดสถึงจะได้ 56% แต่ทางผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขท้องถิ่นไม่ได้มองว่ามีความเชื่อมโยงใดๆ กับประสิทธิภาพของวัคซีนล่าสุด

ทั้งนี้ ในโซเชียลมีเดียก็มีก็โพสต์ข้อความจาก Yanzhong Huang นักวิจัยอาวุโสด้านสาธารณสุขโลกจากสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (CFR) ซึ่งก็เป็นข้อความที่ถูกเซ็นเซอร์ด้วย โดย Huang ระบุว่า นี่เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลออกมายอมรับอย่างเปิดเผย ถึงความกังวลที่มีต่อการฉีดวัคซีน ซึ่งกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จีนฉีดวัคซีนไปแล้วราว 65 ล้านโดส

ผลการทดลองทางคลินิกระยะ 3 ยังไม่เปิดเผย หลายประเทศวิจารณ์หนัก

การผลิตวัคซีนของผู้ผลิตจากจีนไม่ได้เปิดเผยการทดลองระยะที่ 3 ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าประสิทธิภาพของวัคซีนนั้นขาดความโปร่งใส ด้าน Sinopharm อ้างว่าประสิทธิภาพของวัคซีนสูงราว 79% สูงพอๆ กับวัคซีนของ AstraZeneca ด้าน AstraZeneca เองก็ปรับแก้ไขประสิทธิภาพให้มีอัตราลดลงหลังจากเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แต่ทาง Sinopharm ก็ไม่ได้เปิดเผยการทดลองระยะ 3 แต่อย่างใด

Xi Jinping สี จิ้นผิง ประธานาธิบดี จีน
Xi Jinping ภาพจาก Shutterstock

ด้าน Peter English อดีตที่ปรึกษาศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ สาธารณสุขอังกฤษ กล่าวว่า เรื่องที่จีนไม่เผยแพร่ผลการทดลองระยะที่ 3 เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมาก ด้านผู้เชี่ยวชาญจากฮ่องกงระบุว่า CoronaVac หรือวัคซีน Sinovac นี้มีประสิทธิภาพอยู่ที่ 51% สำหรับคนที่มีอายุระหว่าง 18-60 ปี ซึ่งก็มีการเปิดเผยผลการทดลองแค่เพียงระยะ 1 และ 2

CGTN สื่อจีนที่ถูกควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน เผยแพร่คลิปวิดีโอที่มีการสัมภาษณ์ Yin Weidong ผู้ที่เป็น CEO เป็นดั่งหัวเรือใหญ่ขับเคลื่อนบริษัท Sinovac Biotech ระบุว่าภารกิจของ Sinovac ยังไม่สมบูรณ์ ยังมีสิ่งที่ต้องทำต่อ นั่นก็คือการควบคุมโรคระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ

Sinovac มั่นใจ พัฒนาและวิจัยวัคซีนดีแล้ว ผลทดลองระยะ 3 ศึกษาจากประเทศพันธมิตร

Yin ของ Sinovac ระบุว่า เป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นแค่การเริ่มต้น เพราะ COVID-19 เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในโลก เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าต่อไปจะมีอะไรเกิดขึ้นอีก เหมือนกับมนุษย์กำลังพบเจอกับศัตรูที่เข้ามาโจมตี ศัตรูย่อมไม่บอกเราอยู่แล้วว่าจะโจมตีเราอย่างไร มันมีแต่ความท้าทายและความไม่แน่นอนในการผลิตวัคซีน

ส่วนกรณีคำถามเรื่องการทดลองระยะ 3 ที่ทั่วโลกให้ความสนใจอยู่นั้น Yin ระบุว่า เขาพอใจมากกับข้อมูลที่มีอยู่ สาเหตุที่เขาพอใจ เขาบอกว่าเพราะอัตราการติดเชื้อ COVID ในจีนอยู่ในระดับต่ำ เราไม่สามารถทำการศึกษาทดลองระยะ 3 ในจีนได้ นี่เป็นความจริง หรือเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ ในอดีต วัคซีนจีนและบริษัทจีนมีน้อยมาก ซึ่งการทดลองระยะ 3 เราต้องประเมินการศึกษานอกประเทศจีน ส่วนเรื่องที่เราจะประเมินการทดลองระยะ 3 จากนอกประเทศจีนได้อย่างไร นี่เป็นคำถามที่ยาก แต่ไม่สำคัญ สิ่งที่สำคัญคือโรคระบาดเกิดขึ้นในจีนและเกิดในหลายประเทศ

เงื่อนไขสำคัญในการทดลองประกอบด้วย 3 เรื่อง

เรื่องแรกคือ ประเทศนั้นมีการแพร่ระบาดของโรคอย่างหนักและโรคมีความรุนแรง เรื่องที่สองคือ ประชากรจำนวนมากต้องการวัคซีน (Yin ถามผู้สัมภาษณ์กลับด้วยว่า อยู่เฉยๆ คุณจะอยากฉีดวัคซีนเหรอ หมายความว่า อาจหาอาสาสมัครที่สมัครใจจะทดลองวัคซีนได้ลำบาก เว้นแต่คนที่ได้รับผลกระทบหรือป่วยแล้ว อาจจะสมัครใจที่จะรับการทดลองนั้นๆ) เรื่องที่สามคือ ประเทศหุ้นส่วนของเรามีการวิจัยและพัฒนาที่ค่อนข้างอ่อนแอ ต้องการความช่วยเหลือ

China COVID-19 Face Masks
ภาพจาก Shutterstock

ตอนนี้จีนมีการทดลองทางคลินิกในหลายประเทศ ทั้งบราซิล อินโดนีเซีย ตุรกี และชิลี ตอนนี้ผลการทดลองระยะ 3 เปิดเผยแล้ว จีนเริ่มทดลองที่บราซิลที่ถือว่ามีการติด COVID มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก (ข้อมูลจาก JHU ระบุว่า บราซิลมีการติดเชื้อ​ COVID-19 เป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาและอินเดีย มีผู้ติดเชื้อรวม 13,482,023 คน รักษาหาย 11,878,958 คน เสียชีวิต 353,137 คน/ ทั่วโลกเสียชีวิตจาก COVID-19 ไปแล้ว 2,938,439 คน รักษาหาย 77,516,666 คน ติดเชื้อรวม 136,157,645 คน)

นอกจากประสิทธิภาพวัคซีนจะต่ำจนทำให้สาธารณสุขจีนเองยังเป็นกังวลแถมยังไม่เปิดเผยข้อมูลการทดลองระยะ 3 แต่จีนก็ยังตั้งเป้าผลิตวัคซีนต้านโควิดภายในปี 2022 ให้ได้ 5,000 ล้านโดส โดยหัวหน้าสมาคมวัคซีนแห่งประเทศจีนเผย ประเทศจีนตั้งเป้าเพิ่มศักยภาพในการผลิตวัควีนต้าน COVID-19 ให้ได้ 5,000 ล้านโดสภายในปีหน้าหรือปี 2022 โดยตอนนี้จีนกำลังเร่งฉีดวัคซีนภายในประเทศมากขึ้น

Feng Duojia เผยเป้าหมายดังกล่าวในงานประชุมของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง โดยจีนเตรียมเพิ่มการผลิตวัคซีนต้าน COVID ราว 20 เท่าจากการผลิตเดิมหรือที่ส่งวัคซีนไปยังต่างประเทศด้วย ซึ่งจีนเริ่มรณรงค์สร้างภูมิคุ้มก้ันโรค COVID อย่างช้าๆ เนื่องจากขาดแคลนกำลังการผลิตที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการฉีดวัคซีนได้ ปัจจุบันจีนฉีดวัคซีนไปแล้วราว 130 ล้านโดส ส่งออกไปแล้วกว่า 100 ล้านโดส ราว 100 ประเทศ

สรุป

ซีอีโอจาก Sinovac ใช้วิธีทดลองและศึกษาระยะ 3 กับประเทศที่ระบุเงื่อนไขไว้ดังนี้ เป็นประเทศที่มีการติด COVID-19 อย่างหนัก มีอาการของโรคและแพร่เชื้อรุนแรง และเป็นประเทศพันธมิตรที่มีการวิจัยและพัฒนาวัคซีนที่ยังไม่แข็งแกร่งนัก ต้องการความช่วยเหลือ ในจีนมีการควบคุมโรคได้ดีแล้วจึงทำการทดลองได้ยาก จึงเลือกทดลองจากคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ข้างต้น ส่วนผลลัพธ์เป็นที่พอใจสำหรับ Sinovac แต่ยังไม่สำเร็จสมบูรณ์ ส่วนใครที่ต้องการค้นหาคำตอบจากการทดลองทางเทคนิคระยะ 3 ลองสืบค้นการติดเชื้อ การแพร่กระจายเชื้อ การควบคุมโรคจากประเทศเหล่านี้เพิ่มเติม บราซิล อินโดนีเซีย ตุรกี และชิลี

ที่มา – Caixing Global, Financial Times (1)(2)


เปรียบเทียบ 7 วัคซีนโควิด ตั้งแต่ประสิทธิภาพ ความเสี่ยง ถึงผลลัพธ์ข้างเคียง


ขอบคุณแหล่งที่มา (มีลิงค์เชื่อมโยงไปยังแหล่งข่าวโดยตรงด้านบน)

  • https://graphics.reuters.com/world-coronavirus-tracker-and-maps/countries-and-territories/thailand/
  • https://www.med.cmu.ac.th/covid19/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%88%E0%B8%99/3455/
  • https://www.hfocus.org/content/2021/02/21129
  • https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1467
  • https://www.bbc.com/thai/thailand-55623129
  • https://www.bbc.com/thai/international-56752971
  • https://brandinside.asia/china-concern-effective-chinese-vaccine-covid-19-not-high/
  • https://www.caixinglobal.com/2021-04-10/china-vaccine-capacity-to-hit-5-billion-doses-next-year-industry-chief-says-101688506.html
  • https://www.ft.com/content/c54b02d6-00a0-4b7d-9160-a9353800efd3
  • https://www.sarakadeelite.com/better-living/covid-vaccine-comparison/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *