หนาวนี้ปีที่แล้ว ได้ไปเที่ยวหลายแห่งในเชียงราย
เลือกพักที่ดอยตุง และได้เข้าชมสวนแม่ฟ้าหลวง
ก็เพิ่งรู้ว่า ยังไม่รู้อะไรอีกหลายอย่าง (หลายๆคนอาจจะรู้แล้ว)
โดยเฉพาะเรื่องราวที่ดีงาม ซึ่งผ่านมาได้ด้วยความยากลำบาก
ต้องอาศัยแรงบันดาลใจ และความอดทนเป็นอย่างมาก

ตั้งใจจะเอาภาพและเรื่องราวดีๆมาฝาก แต่ก็ล่วงเลยมานาน
จนถึงวันนี้ ที่ไม่ควรเลยผ่านไปอีกแล้ว..

21 ตุลาคม วันครบรอบพระราชสมภพของท่านผู้ทรงก่อตั้ง
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ..หรือ “สมเด็จย่า” ในใจของเรา
เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของท่าน

ด้วยจุดเริ่มต้นจาก พระราชดำรัส “ฉันจะปลูกป่าที่ดอยตุง
พร้อมทั้งทรงงาน อย่างต่อเนื่อง
จึงเกิดความเจริญงอกงามให้เห็นในวันนี้ ..

เรื่องราวที่ยาวนานมีมากมาย เราเก็บเพียงข้อมูลบางส่วนมาฝากค่ะ

“ปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทนฝิ่น”

หลังจากการวางรากฐานในการพัฒนาคน ดร.ฤกษ์ ศยามานนท์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรในสมัยนั้น ได้รับมอบหมายให้มาช่วยงานในโครงการพัฒนาดอยตุงฯ และมาทำงานใต้เบื้องพระยุคลบาท เล่าถึงพระกุศโลบายในการพัฒนาดอยตุงในมิติของภาคการเกษตรว่า “สมเด็จย่า ทรงมีพระประสงค์จะปลูกป่าเศรษฐกิจ โดยรับสั่งว่า ถ้าจะให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่นเราจะต้องนำพืชต่างๆ ที่เหมาะกับพื้นที่มาปลูกแทนฝิ่น อย่างเช่น แมคคาเดเมีย กาแฟ และเกาลัด ซึ่งพืชเหล่านี้มีอายุยืนยาวที่สำคัญเมื่อปลูกพืชจำพวกนี้จะได้ป่า และเมื่อออกผลชาวบ้านก็สามารถเก็บเกี่ยวต่อไปได้” และนี่จึงเป็นโอกาสและจุดเริ่มต้นในการพลิกโฉม ฝิ่น ให้เป็นดินแดนที่สมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้เศรษฐกิจ

ข้อมูลจาก :: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,205 วันที่ 30 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง

หรือที่คนเชียงรายรู้จักในชื่อ “ไร่แม่ฟ้าหลวง” ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เดิมเป็นสถานที่ทำการของมูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อหาตลาดให้งานหัตถกรรมที่เป็นศิลปะของชาวไทยภูเขา

ต้นกำเนิดโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์

โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เป็นโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงได้รับแรงบันดาลใจจากพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในการแก้ปัญหาการปลูกฝิ่นในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องกว่า 40 ปี ทรงสัมผัสความทุกข์ยากของชาวบ้านบนดอยตุง ซึ่งมีชีวิตอยู่ในวังวนของการปลูกและค้ายาเสพติด อีกทั้งวงจรการค้ามนุษย์ซึ่งกลายเป็นปัญหาสังคมอย่างไม่จบสิ้น

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเล็งเห็นถึงต้นเหตุแห่งปัญหาว่าเกิดจากความยากจน ความไม่รู้ และการขาดโอกาสในชีวิตของผู้คนในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร จึงทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่ต้องหยุดวงจรแห่งความทุกข์ยาก โดยพัฒนาคนอย่างมีบูรณาการ ควบคู่ไปกับด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสร้างสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ไปในเวลาเดียวกัน โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้ชุมชนดอยตุงสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างมีคุณภาพต่อเนื่อง โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2531 บนพื้นที่ดำเนินงาน 93,615 ไร่ ในเขตอำเภอแม่จัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง และอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ครอบคลุม 29 หมู่บ้านของชนเผ่าอาข่า ลาหู่ จีนก๊กมินตั๋ง ไทใหญ่ ไทลื้อ และไทลัวะ

ที่มาของคำว่า แม่ฟ้าหลวง

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่าในใจของเรา
ท่านได้ทรงงานอย่างทุ่มเทเพื่อพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในชนบท โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ด้วยเฮลิคอปเตอร์เท่านั้น พระองค์ได้ทรงตระหนักดีถึงความยากลำบาก การขาดโอกาสในชีวิต รวมถึงความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จเยี่ยมราษฎรจึงมีบุคลากรทางการแพทย์เพื่อเข้าไปร่วมตรวจรักษาผู้ที่เจ็บป่วยด้วย และทรงนำเครื่องนุ่งห่ม อาหาร สิ่งของที่จำเป็น และของเล่นสำหรับเด็กเข้าไปพระราชทานให้แก่คนในพื้นที่ ในสายตาของชาวไทยภูเขา พระองค์เปรียบเสมือนเสด็จมาจากฟากฟ้าเพื่อปัดเป่าความทุกข์ยาก เขาเหล่านั้นจึงถวายพระสมัญญานาม “แม่ฟ้าหลวง” แด่พระองค์ ซึ่งเป็นพระนามที่เต็มไปด้วยความเคารพรักบูชาจากหัวใจชาวไทยภูเขาทุกคน

ตลอดพระชนม์ชีพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระองค์ทรงงานอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนที่ยากไร้และชนกลุ่มน้อยในประเทศไทยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพในปีพ.ศ. ๒๕๓๘ รวมพระชนมายุ ๙๕ พรรษา

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้ยกย่องให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเป็น “บุคคลสำคัญของโลก” ประจำปีพ.ศ.๒๕๔๓ ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นเพื่อส่วนรวมในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ประยุกต์ การพัฒนามนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อม

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงสนับสนุนกิจกรรมและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้วยโครงการของพระองค์เอง โดยเฉพาะในเรื่องสาธารณสุขและการศึกษา เพื่อให้ผู้คนในพื้นที่ห่างไกลมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พระองค์เสด็จพร้อมกับคณะแพทย์อาสา ทันตแพทย์ และพยาบาล เพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านการแพทย์พื้นฐาน อีกทั้งยังพระราชทานอาหาร และเครื่องนุ่งห่มให้แก่ราษฎร

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงจัดตั้งมูลนิธิขึ้นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในด้านต่างๆ เช่น ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา และการพัฒนาอาชีพ โดยมีเป้าหมายสูงสุด ไม่ใช่เพียงแค่ให้ราษฎรอยู่รอดได้เท่านั้น แต่ต้องสามารถพึ่งพาตนเองได้และมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนด้วย

ด้วยพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการบรรเทาความทุกข์ยากของราษฎรในพื้นที่ห่างไกลของประเทศ พระองค์มักจะเสด็จไปยังหมู่บ้านของชาวเขาเผ่าต่างๆ ด้วยพระองค์เอง และทรงเห็นถึงสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบากของผู้คนในพื้นที่ ซึ่งต้องพึ่งพาการทำไร่เลื่อนลอยและการปลูกพืชผิดกฎหมาย รวมถึงการค้ายาเสพติดเพื่อการดำรงชีพ อีกทั้งพระองค์ทรงตระหนักถึงศักยภาพในการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมที่ชาวไทยภูเขามี ในปีพ.ศ.๒๕๑๕ พระองค์จึงทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทยในพระราชูปถัมภ์ เพื่อส่งเสริมและหาตลาดให้กับงานหัตถกรรมของชาวเขาเผ่าต่างๆ เพื่อที่จะเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไทยภูเขา รวมถึงสอนทักษะต่างๆ ให้แก่ชาวไทยภูเขาเหล่านั้น เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์พื้นฐาน และสุขศึกษา

มูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทยในพระราชูปถัมภ์ ไม่เพียงแต่มีส่วนร่วมในการส่งเสริมงานหัตถกรรม แต่ยังได้ขยายไปสู่โครงการพัฒนาชนบท ซึ่งดำเนินโครงการตามแนวพระราชดำริของพระองค์ ต่อมาในปีพ.ศ.๒๕๒๘ มูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทยในพระราชูปถัมภ์ได้เปลี่ยนชื่อเป็น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งทำงานบนหลักการที่มุ่งเสริมสร้างศักยภาพของคน ให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในระยะยาว เน้นการพัฒนาโดยยึดคนเป็นศูนย์กลาง ให้ชุมชนมีส่วนร่วมและรู้สึกเป็นเจ้าของในการพัฒนาตั้งแต่แรกเริ่ม

ในปีพ.ศ.๒๕๓๑ เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระชนมายุ ๙๐ พรรษา พระองค์ทรงริเริ่มโครงการพัฒนาเต็มรูปแบบที่ ดอยตุง ทางตอนเหนือของจังหวัดเชียงราย เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่นที่รากเหง้า รวมถึงปัญหาความยากจนและการขาดโอกาส ซึ่งโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้กลายเป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ประสบความสำเร็จ และถูกนำไปใช้ในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทย รวมถึงในต่างประเทศ เช่น เมียนมา อัฟกานิสถาน และอินโดนีเซีย

สมเด็จย่า ทรงสนับสนุนและส่งเสริมด้านการศึกษา

สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงสนพระราชหฤทัยในด้านการศึกษามาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ แม้จะมีอุปสรรคมากมายจากการเรียนในโรงเรียน แต่ก็โปรดการอ่านหนังสือที่ทรงคุณค่านอกเวลามาแต่พระชันษายังน้อย

หนึ่งในบรรดาหนังสือที่ทรงอ่านแล้วโปรดและเห็นด้วยกับสาระมาตั้งแต่ทรงมีพระชนมายุได้ 10 พรรษา คือ บทโคลงสุภาษิตพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีบทหนึ่งให้ข้อคิดเกี่ยวกับ “ความรู้” ซึ่งสมเด็จย่าสนพระราชหฤทัยมากและพิจารณาได้ว่าคงทรงจดจำคติไว้ใช้ในการดำเนินพระชนมชีพมาโดยตลอด

เมื่อทรงพระชนมายุเพิ่มขึ้น เสด็จไปทรงศึกษาและประทับอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป สมเด็จย่าโปรดการอ่านหนังสือปรัชญาของตะวันตกที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตที่ดีงามที่ถูกต้อง พระองค์พอพระราชหฤทัยที่จะอ่านงานเขียนเหล่านั้น ทรงนิยมยกย่องบรรดาปรัชญาเมธีที่มีความสามารถถ่ายทอดความนึกคิดของตนเป็นลายลักษณ์อักษรได้ เมื่อทรงอ่านหนังสือเล่มใด ทรงพบข้อความใดที่ต้องพระราชหฤทัย หรือทรงพระราชดำริว่าน่าสนใจ แม้จะไม่ทรงเห็นด้วย ก็จะทรงขีดเส้นใต้ไว้ด้วยดินสอแดง ข้อความที่คัดมาหลายบท พฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์

สมเด็จย่าทรงสนพระราชหฤทัยศึกษาพุทธศาสนา ทรงอ่านหนังสือเกี่ยวกับศาสนาหลายเล่มโดยไม่ทรงเชื่อหรือปฏิบัติตามคำสอนในพระพุทธศาสนาโดยทันที แต่ทรงยึดหลักเหตุผลใคร่ครวญพิจารณาว่าคำสอนนั้นๆ ถูกต้องมีเหตุผล แล้วจึงปฏิบัติตาม หากได้ศึกษาพระราชประวัติตลอดพระชนมชีพของพระองค์ จะเห็นได้ว่า ทรงนำหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนามาเป็นคติในการดำเนินพระชนมชีพและในการแนะนำช่วยเหลือผู้อื่นในกาลต่อมา

ความรู้นานัปการที่ทรงได้รับจากการศึกษา ทั้งในระบบและนอกระบบจากแหล่งและสื่อต่างๆ ทั้งจากพระปรีชาและพระประสบการณ์ในพระชนมชีพและพระสติปัญญาเมื่อประกอบเข้ากับพระอุปนิสัยที่เรียกอย่างสามัญว่า “ใฝ่ดี” และ “ใฝ่ทำประโยชน์” ด้วยแล้ว ได้หล่อหลอมให้พระองค์ยิ่งทรงเป็นผู้เปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถและพระสติปัญญา นำพาชีวิตส่วนพระองค์และผู้อยู่รอบข้างตลอดจนอาณาประชาราษฎร์ ผู้ปฏิบัติตามรอยพระยุคลบาทให้มีความสุขสงบและเจริญด้วยคุณงามความดีตามอัตภาพของแต่ละบุคคล ทั้งนี้สะท้อนออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมจากพระราชอัธยาศัย พระราชจริยวัตร พระราชภารกิจและพระราชกรณียกิจ ที่ทรงกระทำและบำเพ็ญให้กับครอบครัวของพระองค์ ให้กับสังคมรอบข้างและให้กับชาติบ้านเมืองเป็นนิจ

สมเด็จย่าท่านทรงสนับสนุนและส่งเสริมด้านการศึกษา มาตั้งแต่ทรงอภิเษกสมรสใหม่ๆ หนังสือ “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ของโครงการไทยศึกษา ฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บันทึกไว้ว่า

“หลังจากอภิเษกสมรสได้ไม่นาน ผู้อ่านหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ฉบับวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2463 ก็ได้รับทราบข่าวแรกเกี่ยวกับคู่อภิเษกสมรสใหม่ ในกรอบเล็กๆ หน้า 4 มีประกาศพระนามและนามผู้บริจาคเงินให้แก่โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ใต้พระนามสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้า พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระพันวัสสาฯ) ซึ่งพระราชทาน 1,000 บาท คือ พระนามสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ และหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา ประทาน 5,000 บาท
ข้อความสั้นๆ เพียงบรรทัดเดียวนี้มีความสำคัญมากกว่าจะบอกข่าวคู่สามีภริยามีจิตใจกุศลบริจาคเงินช่วยเหลือโรงเรียนเท่านั้น แต่เป็นการประกาศให้รู้ถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคู่อภิเษกสมรสใหม่ ที่จะร่วมกันบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อความเจริญของชาติบ้านเมือง”
หนังสือเล่มเดียวกันนี้ยังบอกให้ทราบอีกว่า ในฐานะสะใภ้หลวง สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นเงินปีละ 200 บาท พระองค์ได้พระราชทานเงินปีจำนวนนี้ช่วยเหลือนักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานสัมภาษณ์แก่คณะผู้เขียนหนังสือ “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ของโครงการไทยศึกษา ฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า

“จำได้ว่ามาตอนหลังๆ แล้ว สมเด็จย่าเล่าให้ฟังว่า เมื่อท่านเลี้ยงลูกมา ถ้าเด็กๆ อยากทราบอะไร ถ้าเขาไม่แกล้งถามต้องตอบ ถ้าท่านไม่ทราบ ท่านจะเปิด Encyclopedia ตอบ เมื่อฉันโตแล้วเรียนอยู่ ม.ศ. 3 ม.ศ. 4 เวลาท่านมาประทับเมืองไทย วันเสาร์มาเสวยที่นี่ เวลาคุยกับท่าน ถ้าไม่รู้จะพูดลอยๆ ไม่ได้ ครั้งหนึ่งเคยพูดกันเรื่องเมฆชนิดต่างๆ ฉันจำชื่อเมฆไม่ได้ ท่านให้ไปเปิด Encyclopedia Britannica มาดูกันเลย”

นอกจากเรื่องราวข้างต้น ที่นำมาเพียงบางส่วนจากแหล่งข้อมูลต่างๆตามที่ระบุด้านล่างของโพสต์นี้แล้ว ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอ่านและศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก ทั้งสนุกได้สาระ กับพระราชจริยวัตรที่น่ายกย่องและเป็นแบบอย่างที่ดี แนะนำให้อ่านได้ที่นี่ค่ะ 

ทุนการศึกษามูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์

นอกจากนี้ทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังมอบทุนเพื่อสนับสนุนการศึกษา ตามหลักสูตรต่างๆ
และการจัดกิจกรรม เพื่อพัฒนาเยาวชนอีกด้วย

สมเด็จย่ากับงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข

สมเด็จย่า ทรงสนพระราชหฤทัยในคุณภาพชีวิตของพสกนิกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนผู้ยากไร้และด้อยโอกาสในถิ่นห่างไกลความเจริญ ด้วยทรงเห็นว่าสุขภาพคนเราเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าสุขภาพของประชาชนดีแล้ว การประกอบอาชีพ ฐานะความเป็นอยู่ ตลอดจนการพัฒนาประเทศก็ย่อมดีตามไปด้วย

สมเด็จย่าจึงทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์พยาบาลและการสาธารณสุข โดยทรงเจริญตามรอยยุคลบาทสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “พระบิดาแห่งแพทย์แผนปัจจุบันและสาธารณสุข” ผู้ทรงอุทิศพระองค์และพระราชทรัพย์เพื่อกิจการด้านนี้มากมาย ดังลายพระหัตถ์เกี่ยวกับความสำคัญของการสาธารณสุขที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงมีถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ว่า
“หม่อมฉันรู้สึกเสมอว่า การสาธารณสุขนั้นเป็นการสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งเป็นเครื่องทำนุบำรุงกำลังของชาติไทย และเป็นสาธารณะประโยชน์แก่มนุษยชาติทั่วไปด้วย  เพราะฉะนั้น เมื่อมีโอกาสอันใดซึ่งหม่อมฉันพอที่จะช่วยออกกำลังกายและสติปัญญาหรือทรัพย์ อันเป็นผลที่จะทำนุบำรุงให้การนั้นเจริญขึ้นแล้ว หม่อมฉันยินดีปฏิบัติเสมอ”

ดังนั้น เมื่อสิ้นสมเด็จพระบรมราชชนกแล้ว แม้ว่าการอภิบาลพระโอรสธิดาให้มีพลานามัยและการศึกษาที่ดีจะเป็นพระราชภารกิจที่ต้องให้เวลาและความเอาใจใส่ดูแลถี่ถ้วนอย่างมาก แต่สมเด็จย่าก็ทรงมีเวลาให้แก่การแพทย์ พยาบาลและสาธารณสุขเสมอ โดยเฉพาะโครงการต่างๆ ที่สมเด็จพระบรมราชชนกเคยสนับสนุนมาแต่เดิม สมเด็จย่าทรงดำเนินกิจกรรมทุกอย่างให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมราชชนกโดยมิได้ทรงหยุดยั้ง

โดยเฉพาะโครงการต่างๆ ที่สมเด็จพระบรมราชชนกเคยสนับสนุนมาแต่เดิม สมเด็จย่าทรงดำเนินกิจกรรมทุกอย่างให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมราชชนกโดยมิได้ทรงหยุดยั้ง

ผู้ใดที่เคยได้รับพระราชทานทุนการศึกษาจากสมเด็จพระบรมราชชนก ก็ทรงพระเมตตาพระราชทานต่อไปจนสำเร็จการศึกษา ทรงช่วยในการก่อสร้างปรับปรุงโรงพยาบาลศิริราชให้สำเร็จลุล่วงตามพระราชประสงค์ ได้พระราชทานเงินเพิ่มเป็นรายเดือนแก่แพทย์ผู้เป็นนักเรียนทุนของสมเด็จพระบรมราชชนกที่กลับมารับราชการแล้วได้เงินเดือนน้อยกว่าที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ ได้พระราชทานเงินจำนวน 500,000 บาท ให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภายในกำหนด 25 ปี เพื่อตั้งเป็นทุนสำหรับเก็บดอกผลส่งคนไปศึกษาเพิ่มเติมในต่างประเทศ ต่อมาได้โอนทุนนี้ให้มหาวิทยาลัยแพทย์ คือ มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน

เมื่อตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลนิวัติประเทศไทยใน พ.ศ. 2488 สมเด็จย่าได้ทรงนำยาที่เรียกว่า PAS เข้ามาเมืองไทยเป็นครั้งแรก ยานี้ใช้ในการผลิตวัคซีนบีซีจี สร้างภูมิคุ้มกันวัณโรคให้ร่างกาย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งต่อประชาชนชาวไทย มิให้ต้องเป็นเหยื่อของโรคร้ายนี้ ต่อมาใน พ.ศ. 2494 สมเด็จพระปิโยรสพระองค์เล็กได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างตึกสำหรับผลิตบีซีจี ซึ่งเป็นยาฉีดให้แก่เด็กเพื่อป้องกันวัณโรค พระราชทานนามตึกนี้ว่า มหิดลวงศานุสรณ์

สมเด็จย่าทรงรับเป็นผู้อุปถัมภ์สมาคม มูลนิธิต่างๆ มากมาย เป็นต้นว่า ทรงเป็นประธานมูลนิธิอานันทมหิดล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2502 เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล มีวัตถุประสงค์ในการคัดเลือกบุคคลส่งไปศึกษาวิชาพิเศษ ณ ต่างประเทศในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อให้กลับมาปฏิบัติงานให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ พระราชทานเงินรายปีสมทบทุนเพื่อเก็บดอกผลช่วยนักเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

พระราชทานเงินสมทบทุนโรงพยาบาลโรคติดต่อปากคลองสาน ธนบุรี เพื่อสร้างประปาชั่วคราวช่วยเหลือผู้ป่วยในโรงพยาบาลนั้น ทรงสนับสนุนส่งเสริมวิชาชีพและการศึกษาพยาบาลตั้งแต่เริ่มการก่อตั้งสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยสมัยแรก โดยทรงร่วมเป็นกรรมการของสมาคม สมาคมศิษย์เก่าพยาบาลศิริราช ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์โรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย จังหวัดสงขลา
ใน พ.ศ. 2503 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อสร้าง “อาคารศรีสังวาลย์” ขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อให้เป็นที่ตรวจรักษาและบำบัดคนพิการ

ทรงรับเป็นองค์ประธานกรรมการศิริราชมูลนิธิ ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2510 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำดอกผลที่เกิดจากเงินกองทุนของมูลนิธิมาส่งเสริมกิจการต่างๆ ของคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการฯ ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของมูลนิธิช่วยคนโรคเรื้อนจังหวัดลำปาง ใน พ.ศ. 2505 และทรงอุปถัมภ์โรงเรียนจิตต์อารีของมูลนิธิซึ่งเป็นบ้านและโรงเรียนของลูกผู้ป่วยโรคเรื้อนที่ยังไม่ได้รับเชื้อจากพ่อแม่ ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 500,000 บาท จัดตั้งมูลนิธิขาเทียมเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2535

นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๐๗ อันเป็นปีที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่เพิ่งสร้างเสร็จได้ราวปีเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้อัญเชิญสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมเพื่อพักผ่อนพระอิริยาบถ ณ พระตำหนักแห่งใหม่นี้ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมครั้งนี้ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ทรงพระดำเนินไปตามป่าเขาและแวะเยี่ยมเยียนชาวบ้านตามหมู่บ้านต่างๆ ในละแวกนั้น ทำให้ได้ทรงพบเห็นราษฎรหลังจากนั้นเป็นต้นมา

ทุกครั้งที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จเยี่ยมประชาชนในท้องที่ห่างไกลก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์หลวงที่ตามเสด็จช่วยรักษาพยาบาลชาวบ้านที่ป่วยไข้ซึ่งพระองค์จะเสด็จไปทอดพระเนตรการปฏิบัติงานด้วยพระองค์เอง ทุกครั้งอย่างไรก็ตามในแต่ละแห่งที่เสด็จเยี่ยมทรงใช้เวลาราว ๓-๔ ชั่วโมง ทำให้แพทย์ที่ตามเสด็จฯ เพียง๑-๒ ท่าน ไม่สามารถทำการรักษาผู้ป่วยที่มีจำนวนนับร้อยได้ทัน สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงได้ทรงมีพระราชดำริที่จัดตั้งหน่วยแพทย์อาสาในพระองค์ขึ้น โดยให้ทดลองจัดตั้งขึ้นก่อนในปีพ.ศ. ๒๕๑๑ ซึ่งปรากฏว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง

ดังนั้นในปีถัดมา (พุทธศักราช ๒๕๑๒) สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงทรงมีพระราชปรารภถึงแนวพระราชดำริในการจัดตั้งหน่วยแพทย์ พยาบาล เภสัชกรเข้ามาเป็นอาสาสมัครของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในพระองค์นี้และได้จัดให้มีการประชุมอาสาสมัครเหล่านี้ขึ้นเป็นครั้งแรกที่พระ ตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งผลการประชุมในครั้งนี้ได้ก่อให้เกิด “หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาล”  หรือที่พระราชทานชื่อย่อ “พอ.สว.”  ขึ้น ที่นี่หน่วยแพทย์ พอ.สว. จะประกอบไปด้วยแพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เป็นอาสาสมัครทำงานด้วยความเสียสละโดยมิได้รับเงินเดือน หรือค่าตอบแทนพิเศษอื่นใดและจะเคลื่อนที่ออกไปให้บริการตรวจรักษาชาวบ้านตามท้องถิ่นต่างๆ ที่กันดารห่างไกล ความเจริญเฉพาะในวันเสาร์และวันอาทิตย์ซึ่งการออกปฏิบัติดังกล่าวเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๒

ถึงตรงนี้… ขอบอกจากประสบการณ์ตรงส่วนตัวค่ะ ว่าเราก็เคยเป็นหนึ่งในคณะหน่วยแพทย์อาสาฯ พอ.สว. นี้ซึ่งทำงานด้วยความภาคภูมิใจ

เมื่อเรานึกถึงคำว่า ‘แม่ฟ้าหลวง’ เรานึกถึงอะไร..

เราได้ไปอ่านบทความที่เขียนโดย  แล้วน่าสนใจ ขออนุญาตนำมาไว้ให้อ่านที่นี่ด้วยค่ะ

เมื่อเรานึกถึงคำว่า…‘แม่ฟ้าหลวง

สำหรับผมแล้วอย่างน้อยก็มี ๙ ประการ … ที่นึกถึงคำว่า ‘แม่ฟ้าหลวง’

เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๖ – สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสำนักงาน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผมเพิ่งมีโอกาสเห็นหนังสือที่ระลึกเนื่องในการเสด็จฯ ซึ่งตนเองมีความประทับใจ ภาพหน้า ๑๒-๑๓ ที่ทางมูลนิธิฯได้นำสภาพป่าดอยตุงเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ มาเปรียบเทียบกับสภาพป่าอันสมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ จึงอยากจะขออนุญาตเเรียบเรียงข้อมูลเรื่อง ‘แม่ฟ้าหลวงและดอยตุง’ พอสังเขปทั้งจากหนังสือที่ระลึก และจากประสบการณ์ส่วนตัวดังนี้…

(๑) เมื่อนึกถึง ‘แม่ฟ้าหลวง’ เราทั้งหมดก็นึกถึง ‘สมเด็จย่า’ หรือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระนามซึ่งยากเกินกว่าที่ชาวไทยภูเขาจะเรียกขานได้ ผู้ซึ่งเสด็จมาด้วยเฮลิคอปเตอร์จากฟากฟ้าจนชินตา  พร้อมกับสิ่งของ อาหาร เครื่องมือและบุคลากรทางการแพทย์เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสเหล่านั้น เขาทั้งหลายจึงพร้อมใจกันขนานพระนามว่า ‘แม่ฟ้าหลวง’ ด้วยความเต็มใจ(๒) เมื่อนึกถึง ‘แม่ฟ้าหลวง หลายคนคงจะนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวบนดอยตุงอันมีชื่อเสียงโด่งดัง โดยเฉพาะสวนดอกไม้ที่อาจจะกล่าวได้ว่าสวยที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปเยี่ยมชมไม่ขาดสาย และเมื่อกล่าวถึงคำว่า ‘สวน’ แล้ว ขอให้ย้อนนึกถึง ‘ไร่แม่ฟ้าหลวง’ (พ.ศ. ๒๕๒๒ – ๒๕๒๘) สถานที่ซึ่งเคยใช้เป็นที่ ‘ปลูกคน’ ของโครงการผู้นำเยาวชนชาวเขา บนพื้นที่ ๑๙ ไร่ ที่เยาวชนชาวเขามาอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว เรียนรู้และฝึกฝนวิถีชีวิตที่มีคุณภาพ ฝึกการพึ่งพาตนเอง ฝึกการอยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จนกระทั่งการศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐสามารถตอบสนองเยาวชนรุ่นถัดมาจนเพียงพอ ไร่แม่ฟ้าหลวงจึงกลายมาเป็น ‘อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง’ และทุกวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ของทุกปี ก็จะเป็นโอกาสดีของชาวเชียงรายและอื่นๆทั่วประเทศ ที่จะมาร่วมงานตานหา “แม่ฟ้าหลวง” เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จย่า

(๓) เมื่อนึกถึง ‘แม่ฟ้าหลวง’ เราต่างนึกถึงการปลูกป่าของสมเด็จย่าฯ ด้วยอมตะวาจา “ฉันจะปลูกป่าที่ดอยตุง” ของสมเด็จย่า ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงและทุกคนบนเทือกเขานางนอน พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติจังหวัดเชียงราย ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานให้พื้นที่อาศัยของชาวไทยภูเขาและ ชนกลุ่มน้อย ๖ เผ่า ซึ่งมีประชากรรวมกันราว ๑๑,๐๐๐ คน กลายมาเป็นป่าอันอุดมสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง

จากแหล่งผลิตและค้ายาเสพติดที่ใหญ่ที่สุด จากปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำไร่หมุนเวียน และเพื่อปลูกฝิ่น ตลอดจนการให้ลูกสาวไปเป็นโสเภณีและตามมาด้วยปัญหาโรคเอดส์ สมเด็จย่าทรงเล็งเห็นว่า รากเง้าของวงจรปัญหาอันซ้ำซากคือ ความยากจนและการขาดโอกาสในชีวิต จึงมีพระราชดำริที่จะปลูกป่าให้ธรรมชาติกลับคืนมา ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจและสังคม จึงเป็นที่มาของโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พ.ศ.๒๕๓๑ ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชููปถัมภ์**

(๔) เมื่อนึกถึง ‘แม่ฟ้าหลวง’ หลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินคำว่า ‘ตำราแม่ฟ้าหลวง’ ซึ่งก็คือหลักการพัฒนาที่ได้สั่งสมประสบการณ์กว่า ๔๐ ปี จากพระราชปณิธานของสมเด็จย่ามาจนถึงปัจจุบัน*** ที่สมเด็จย่ามุ่งให้พ้นจาก ความเจ็บป่วย ความยากจน และความไม่รู้ โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น ๓ ขั้นตอนคือ อยู่รอด, อยู่อย่างพอเพียง และอยู่อย่างยั่งยืน โดยปัจจัยแห่งความสำเร็จอยู่ที่การมีส่วนร่วมระหว่าง ชุมชน ข้าราชการและหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งเอกชนในพื้นที่ จนสรุปเป็นองค์ความรู้ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาชนบท การฟื้นฟูและบริหารทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งธุรกิจเพื่อสังคม ปัจจุบันนี้มีคณะดูงานมากกว่าปีละ ๘๐๐ คณะ ขึ้นไปเรียนรู้หลักการทรงงานของสมเด็จย่าบนดอยตุงอันถือได้ว่า เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชีวิตที่ร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้กับสังคมไทย และสังคมโลก

(๕) เมื่อนึกถึง ‘แม่ฟ้าหลวง’ เราทุกคนต่างเคยดื่มกาแฟดอยตุง และขบเคี้ยวถั่วมาคาเดเมีย ที่แสนอร่อยและมีคุณภาพ อันเป็นไปตามรับสั่งของสมเด็จย่าที่ตรัสไว้ว่า “อย่าให้คนซื้อของเราเพราะสงสาร แต่ต้องทำให้ได้มาตรฐานและไม่ขาดทุน” จนทำให้หน่วยธุรกิจ ๔ ด้าน อันได้แก่ อาหาร, หัตถกรรม, การเกษตร และการท่องเที่ยว สามารถเลี้ยงตัวเองได้นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ เป็นต้นมา

(๖) เมื่อนึกถึง ‘แม่ฟ้าหลวง’ เราต้องนึกถึง ‘ความสำเร็จและการขยายผล’ ซึ่งสิ่งยืนยันได้ดีที่สุดถึงความสำเร็จก็คือ การที่สำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมได้ยกย่องให้โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เป็นต้นแบบการพัฒนาทางเลือกเพื่อลดการปลุูกพืชเสพติดและแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยิ่งยืน

นอกจากนี้ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาดอยตุง ยังได้รับเลือกจากมูลนิธิ Schwab ให้เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการทางสังคมดีเด่นแห่งภาคพื้นเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาสังคมและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จ

มีการขยายผลไปยังพื้นที่หลายแห่งทั้งในประเทศ เช่น โครงการปลูกป่าถาวรที่บ้านปะมะหัน, โครงการปลูกชาน้ำมันที่บ้านปูนะ, โครงการพื้นที่ต้นแบบที่น่าน, ฯลฯ ที่ขยายไปยังต่างประเทศเช่น สหภาพเมียนม่าร์, อัฟกานิสถานและอินโดนีเซีย ฯลฯ เป็นต้น

(๗) เมื่อนึกถึง ‘แม่ฟ้าหลวง’ ต้องนึกถึง ‘ความยั่งยืน’ ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือ การบริหารงานของอบต.ฟ้าหลวง ที่จะต้องบริหารจัดการการปกครองท้องถิ่นของชุมชน ๒๔ ชุมชน (๑๙ หมู่บ้านหลัก ๕ หมู่บ้านบริวาร) ที่เต็มไปด้วยชาติพันธุ์อันหลายหลาย คุณทรงกลด อดีตนายกอบต.เคยกล่าวไว้ตอนไปเยี่ยมชมว่า “ที่ท่านเห็นคณะบริหารอบต.,กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน ที่นั่งประชุมอยู่นี้ เวลากลับไปบ้านแล้วเรามีภาษาที่ต่างกันอย่างน้อย ๔ ภาษา เรารู้จักที่จะอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของความแตกต่างทั้งไม่ว่า เรื่องความเชื่อ ศาสนา วิถีชีวิตและขนบประเพณี เราแตกต่างกันก็จริง แต่เรามีวิธีทำงานที่ไม่แตกแยก เรามีวิธีการจัดการ และเราสามารถอยู่ร่วมกันได้” และสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้ผู้ซึ่งมาจากความแตกต่างและหลากหลายได้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพนั้นก็คือ ‘แม่ฟ้าหลวง’ นั่นเอง

โครงการพัฒนาดอยตุงฯ วางแผนระยะเวลาดำเนินการไว้ ๓๐ ปี และจะถ่ายโอนให้ผู้นำรุ่นใหม่บริหารจัดการดูแลตนเองตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ เป็นต้นไป ผมจึงไม่แปลกใจเมื่อคุณชายดิศนัดดา ตอบคำถามเรื่องอนาคตของดอยตุง ในรายการสุดท้ายของการขึ้นไปดูงานหลายครั้ง ด้วยการให้คณะของผู้ดูงานไปเรียนรู้จาก อบต.แม่ฟ้าหลวง แทนที่จะต้องอธิบายด้วยตนเอง

(๘) เมื่อนึกถึง ‘แม่ฟ้าหลวง’ ขอให้นึกถึง ‘อนาคตแห่งการแบ่งปันความรู้’ – มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงนั้นถือได้ว่าเป็นผู้สนับสนุนหลักรายหนึ่งของโครงการรากแก้ว โครงการที่เน้นปลุกจิตสำนึกของนักศึกษาให้รู้จักรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม โดยการทำโครงการพัฒนาชุมชน ที่มิได้เพียงแค่การทำงานด้านอาสาพัฒนา เช่นที่เคยปฏิบัติกันมาแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องสามารถนำเสนอโครงการ ด้วยการวิเคราะห์ปัญหา ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงความสุข และความย่ังยืน รวมไปถึงการลงมือทำเพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่ตนคิดและประยุกต์ความรู้ที่ตนเรียนรู้มาจากสถาบันนั้น สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของชุมชนได้

การสนับสนุนที่สำคัญคือ ก็คือด้านองค์ความรู้ด้านการพัฒนาที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้สั่งสมประสบการณ์และความสำเร็จมาในเวลากว่า ๔๐ ปีนั่นเอง

(๙) เมื่อนึกถึง ‘แม่ฟ้าหลวง’ เราคงอดไม่ได้ที่จะให้นึกถึง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย แม้ที่มาและการบริหารงานมิได้เกี่ยวข้องกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ก็ตาม แต่จากการที่ได้เคยไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการรากแก้ว ได้เยี่ยมชมมหาวิทยาลัยในหลายๆจุดนั้น ก็ต้องกล่าวว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่น่าภาคภูมิใจแห่งหนึ่งของประเทศ สมกับที่ได้อัญเชิญพระนามของสมเด็จย่าที่ถูกเรียนขานโดยชาวไทยภูเขามาเป็นชื่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้

===================

**เดิม(พ.ศ.๒๕๑๒) คือ มูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เปลี่ยนชื่อเป็น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเมื่อสมเด็จย่าฯเสด็จสวรรคต ในปีพ.ศ.๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เป็นนายกกิตติมศักด์

*** ใครสนใจหาซื้อ ตำราแม่ฟ้าหลวง ได้ที่ mflfmanual@doitung.org

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน บันทึกแรลลี่ศาสตร์พระราชา

=====================

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

ก่อนจากกันตรงนี้ เราเก็บบางภาพจาก หอแห่งแรงบันดาลใจ มาฝากนะคะ

หยดน้ำสะท้อนอะไรในใจเรา

 

สิ่งยิ่งใหญ่ๆเริ่มจากจุดเล็กๆ

#น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ #ยิ่งรู้ก็ยิ่งรัก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *