กับสถานการณ์น้ำท่วมทุกวันนี้ มีข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต้องติดตาม เพื่อจะเตรียมตัวป้องกัน และร่วมช่วยเหลือกัน
แต่เราจะเลือกรับข้อมูลที่มีมามากมายในหลายช่องทางอย่างไร เพื่อความถูกต้องและให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

หยิบการรวบรวมคำแนะนำจากเว็บ thumbsup ที่เราอ่านแล้วเห็นด้วยและคิดว่ามีประโยชน์ มาฝากกันค่ะ

ท่ามกลางภัยน้ำท่วม คนไทยควรติดตามและแบ่งปันข่าวสารบนสังคมออนไลน์อย่างไร

ในขณะที่ประเทศไทยของเรากำลังเผชิญกับภัยทางธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดอีกครั้งและผู้คนจำนวนมากกำลังเดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือ ช่องทางบนโลกออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ต่างๆ, สังคมออนไลน์อย่าง Twitter หรือ Facebook ก็ได้กลายมาเป็นช่องทางสำคัญในการติดตามและแบ่งปันข่าวสารของหน่วยงานและสื่อต่างๆ ไปแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อช่องทางเหล่านี้ให้อิสระในการติดต่อสื่อสารได้อย่างเต็มที่ ภาระและความรับผิดชอบจึงกลายมาเป็นของผู้ใช้ไปโดยปริยาย และความถูกต้อง รวดเร็วจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในยามที่ประเทศกำลังอยู่ในวิกฤติเช่นนี้ thumbsup ขอรวบรวมคำแนะนำเพื่อให้ชาวโลกออนไลน์ได้พิจารณาในการใช้งานช่องทางต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการสื่อสารครับ

ข้อพึงระวังสำหรับการติดตามและแบ่งปันข้อมูลช่วงน้ำท่วม

  1. ตรวจสอบแหล่งข้อมูลให้มั่นใจว่ามีที่มาที่เชื่อถือได้ – โลกออนไลน์เป็นโลกที่ให้ความเป็นอิสระสูงในการส่งต่อข้อมูลข่าวสารต่างๆ หากไม่มีการตรวจสอบแหล่งที่มาที่ชัดเจน คุณอาจพบว่าตัวคุณเองกำลังเป็นผู้หนึ่งที่ช่วยประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ผิดพลาดไปยังคนอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะข้อมูลที่มีอาจทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือเสียหาย เช่น แจ้งว่าบางพื้นน้ำท่วมเสียหายไปแล้ว หรืออ้างอิงโดยระบุว่ามีคนพูดข้อความนั้นข้อความนี้ทั้งๆ ที่เจ้าตัวไม่ได้มีส่วนรู้เห็น หรือที่รุนแรงกว่าคือการตัดต่อรูปภาพ ดัดแปลงข้อมูล แม้จุดประสงค์จะทำเพื่อความหวังดีหรือเพื่อล้อเลียนเพื่อความสนุก ก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ทั้งสิ้น ตัวอย่างล่าสุดก็คือการอ้างกระแสพระราชดำรัสของในหลวงที่ไม่ว่าผู้เริ่มเผยแพร่ข้อความจะหวังดีเพียงใด แต่เมื่อข้อความนั้นไม่มีที่มาที่เชื่อถือได้ก็ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าตัวและก่อให้เกิดความไม่พอใจท่ามกลางคนหมู่มากได้
    • คำแนะนำ
      1. หากที่มาเป็นสื่อหลักที่น่าเชื่อถือ การเผยแพร่ควรอ้างอิงแหล่งข้อมูลเหล่านั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้รับข้อมูลต่อโดยไม่มีการตัดทอนคำพูด หรือเนื้อหาที่สำคัญทิ้ง หากเป็นการ share ต่อบน Facebook ควรอ้างอิงที่มา และการ RT บน Twitter อาจจะใช้เป็นการ Retweet รูปแบบปกติที่ไม่มีการต่อเติมข้อความใดๆ
      2. หากที่มาเป็นบุคคลหรือองค์กรที่ไม่รู้จัก ควรตรวจสอบกับแหล่งอื่นๆ ซ้ำอย่างน้อย 2-3 แหล่ง โดยแหล่งอื่นๆ ที่ว่าไม่ควรเป็นแหล่งที่อ้างอิงข้อมูลมาจากที่เดียวกันหรือเป็นการ Share หรือ RT ต่อมาจากแหล่งเดิม เพื่อให้แน่ใจว่ามีผู้รับรู้หรือรับทราบข้อมูลและมีการอ้างอิงมากกว่า 1 คน/องค์กรเท่านั้น
      3. หากข้อมูลมีการอ้างถึงหน่วยงานรัฐ หรือองค์กรอื่นๆ ในการรับสารควรมีการตรวจสอบซ้ำกับช่องทางหลักขององค์กรต่างๆ เหล่านั้นอีกครั้งเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ซึ่งในขณะนี้หน่วยงานหลักๆ ต่างๆ ได้มีช่องทางทั้ง Facebook และ Twitter ไว้รองรับแล้ว
  2. ตรวจสอบเวลาของข้อมูล – เนื่องจากการแบ่งปันข้อมูลไม่ว่าจะเป็นบน Facebook, Twitter หรือแม้แต่โปรแกรมแชตบนโทรศัพท์มือถือ หากไม่มีการระบุเวลาที่ชัดเจน ข้อมูลดังกล่าวอาจจะถูกเผยแพร่หรือส่งต่อไปเรื่อยๆ และแม้เหตุการณ์, การขอความช่วยเหลือ หรือคำเตือนต่างๆ จะผ่านเวลาที่สำคัญไปแล้ว ข้อมูลก็ยังจะถูกส่งต่อไปและอาจสร้างความแตกตื่นหรือความสับสนได้ว่าบางเหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำอีก หรือเป็นเหตุการณ์เดิม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนในการประสานงานให้ความช่วยเหลือได้
    • คำแนะนำ
      1. ควรดูวันที่และเวลาของข้อมูลก่อนตัดสินใจเชื่อหรือไม่เชื่อทุกครั้ง บางข้อมูลอาจจะเก่าเกินไป ควรอ้างอิงจากข้อมูลที่ใหม่ที่สุดเท่านั้น ซึ่งในขณะนี้ บางข้อมูลที่มาอายุเกิน 3 ชั่วโมงก็อาจจะถือว่าเก่าเกินไปแล้ว ควรหมั่นตรวจสอบให้ข้อมูลอยู่ภายใน 1 ชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้น
      2. ในการเผยแพร่ข้อมูลต่อ หากเป็นข้อมูลที่เกิดจากประสบการณ์ของตัวเองหรืออยู่ในเหตุการณ์จริง ควรระบุเวลาที่แน่นอนรวมถึงวันที่ด้วย อาจจะใช้รูปแบบที่กระทัดรัดเพื่อให้ประหยัดพื้นที่ เช่น 20/10@10:45 เพื่อระบุวันที่ 20 เดือนตุลาคม เวลา 10:45 นาฬิกา หรือรูปแบบอื่นๆ ที่สื่อสารได้ชัดเจนและครบถ้วนก่อนเริ่มต้นข้อความหรือลงท้ายข้อความใดๆ ก็ได้
  3. ตรวจสอบหลักฐานของข้อมูลหรือแหล่งที่มา – หลายๆ ครั้ง การมีแค่ข้อความที่ไม่มีภาพหรือคลิปวิดีโอทำให้ผู้อ่านไม่สามารถเห็นภาพที่ชัดเจนได้ การถ่ายภาพเพื่อเป็นหลักฐานจะช่วยให้อ้างอิงได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการใช้เพื่อขอความช่วยเหลือหรือแจ้งเหตุต่างๆ
    • คำแนะนำ
      1. แนบรูป หรือพิกัดสถานที่ โดยมีจุดที่สามารถใช้อ้างอิงได้อย่างชัดเจนประกอบข้อมูล โดยเฉพาะการแจ้งปัญหาหรือขอความช่วยเหลือเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงได้สะดวกรวดเร็วขึ้น
      2. สำหรับผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟน โดยเฉพาะ iPhone สามารถใช้ Maps เพื่อระบุตำแหน่งปัจจุบันของตนเอง จากนั้นกดปุ่ม Home พร้อมกับปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง เพื่อบันทึกภาพ จากนั้นส่งภาพดังกล่าวมาประกอบการแจ้งปัญหา จะช่วยให้หน่วยงานต่างๆ เข้าถึงพื้นที่ได้รวดเร็วขึ้น

แน่นอนว่านี่คงจะเป็นแค่บางส่วนที่ในฐานะผู้ใช้สื่อออนไลน์และสังคมออนไลน์ควรระมัดระวัง คำแนะนำข้างต้นเป็นข้อหลักๆ ที่เราสามารถทำได้ง่ายๆ เพื่อให้ข้อมูลถูกต้องและมีประโยชน์ต่อผู้รับสารต่อ หากใครมีคำแนะนำดีๆ ใดๆ เพิ่มเติม กรุณาแจ้งมายังทีมงาน thumbsup เพื่อให้ช่วยประชาสัมพันธ์ต่อได้ครับ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคนไทยจะช่วยเหลือและมีน้ำใจต่อกัน… แล้วเราจะผ่านเหตุการณ์นี้ไปด้วยกันครับ

ขอให้ทุกคนปลอดภัยนะครับ

ขอขอบคุณ ที่มา http://thumbsup.in.th

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *