สวัสดีค่ะ

ตั้งแต่มีข่าวเรื่องไข้หวัดใหญ่ 2009 หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ(เอช1เอ็น1)
ทำให้ช่วงนี้มีการซื้อขายหน้ากากอนามัยหรือผ้าปิดจมูก รวมทั้งเจลล้างมือกันค่อนข้างมาก
จนบางแห่งถึงกับขาดตลาดกันเลย ซึ่งจริงๆแล้วอาจไม่ได้น่ากลัวขนาดที่เราต้องตื่นตระหนกกัน
แต่ถึงอย่างไรเราก็ไม่ควรประมาทนะคะ

ได้หาค้นหาข้อมูลเรื่องนี้เพิ่มเติม เห็นว่ามีประโยชน์และไม่ใช่เรื่องยาก .. ก็เลยหยิบมาฝากกันตรงนี้ด้วยค่ะ

ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1
Influenza A (H1N1)

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เอ เอช1เอ็น1 เป็นโรคที่แพร่ติดต่อระหว่างคนสู่คน เริ่มพบที่ประเทศเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา ต่อมาได้แพร่ออกไปยังอีกหลายประเทศ

เชื้อสาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 (A/H1N1) ซึ่งเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ตัวใหม่ ที่ไม่เคยพบมาก่อน เกิดจากการผสมสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่ของคน สุกร และนก

การแพร่ติดต่อ
เชื้อไวรัสที่อยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย แพร่ติดต่อไปยังคนอื่น ๆ โดยการไอจามรดกันโดยตรง หรือหายใจเอาฝอยละอองเข้าไป หากอยู่ใกล้ผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร บางรายได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ผ้าเช็ดมือ เป็นต้น เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ตา ปาก
ผู้ป่วยอาจเริ่มแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนป่วย ช่วง 3 วันแรกจะแพร่เชื้อได้มากสุด และระยะแพร่เชื้อมักไม่เกิน 7 วัน

อาการป่วย
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อไวรัส 1 – 3 วัน น้อยรายที่นานถึง 7 วัน อาการป่วยใกล้เคียงกันกับโรคไข้หวัดใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วไป เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ อาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียด้วย
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง หายป่วยได้โดยไม่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล อาการจะทุเลาและหายป่วยภายใน 5 – 7 วัน แต่บางรายที่มีอาการปอดอักเสบ รุนแรง จะพบอาการหายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้

การรักษา
ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส คือ ยาโอลเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) เป็นยาชนิดกิน หากผู้ป่วยได้รับยาภายใน 2 วันหลังเริ่มป่วย จะให้ผลการรักษาดี
ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ต่ำ ๆ และยังรับประทานอาหารได้ อาจไปพบแพทย์ที่คลินิก หรือขอรับยาและคำแนะนำจากเภสัชกรใกล้บ้าน และดูแลรักษากันเองที่บ้าน โดย
– รับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้พาราเซตามอล ยาละลายเสมหะ เป็นต้น และเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะด้วยน้ำสะอาดไม่เย็น
– ดื่มน้ำสะอาดและน้ำผลไม้มาก ๆ งดดื่มน้ำเย็น
– พยายามรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ได้มากพอเพียง เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก ผลไม้ เป็นต้น หากรับประทานอาหารได้น้อย อาจต้องได้รับวิตามินเสริม
– นอนหลับพักผ่อนมาก ๆ ในห้องที่อากาศถ่ายเทดี
– ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ ยกเว้นติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งต้องรับประทานยาจนหมดตามแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อดื้อยา

การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ
– หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
– หากต้องดูแลผู้ป่วย ควรสวมหน้ากากอนามัย เมื่อดูแลเสร็จ ควรรีบล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทันที
– ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
– ใช้ช้อนกลางทุกครั้ง เมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
– หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังไอ จาม
– รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมทั้งไข่ นม ผัก และผลไม้ ดื่มน้ำสะอาดและนอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงบุหรี่และสุรา

การป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อ
 – หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ควรลาหยุดงาน หยุดเรียน เป็นเวลา 3 – 7 วัน ซึ่งจะช่วยลดการแพร่ระบาดได้มาก
 – พยายามหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดคลุกคลีกับคนอื่น ๆ
 – สวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่กับผู้อื่น หรือใช้ทิชชูปิดจมูกปากทุกครั้งที่ไอจาม ทิ้งทิชชูลงในถังขยะที่มีฝาปิด แล้วล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่

ที่มา
สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค
http://beid.ddc.moph.go.th
4 พฤษภาคม 2552

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม :

  • เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข
  • เว็บไซต์ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค
    และหากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 3333
    และศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 1994 ตลอด 24 ชั่วโมง
  • แนะนำให้ไปอ่านเพิ่มเติม ในกระทู้นี้ของคุณหมอแมวค่ะ เพื่อความเข้าใจและลองทำได้ง่ายๆ เช่น
    • การแพร่เชื้อทางอากาศเกิดขึ้นได้ยังไง
    • ถ้าไม่มีหน้ากากล่ะ ทำอย่างไร
    • ใส่หน้ากากอย่างไร
    • การล้างมือที่ถูกวิธีมีอย่างไร
    • ต้องมีอาการอย่างไรจึงควรไปตรวจที่รพ.?

    ขอขอบคุณ คุณหมอแมว สำหรับข้อมูลดีๆ มาณตรงนี้ด้วยนะคะ “ขอบคุณค่ะ”
    ก็หวังว่าทุกท่านจะสามารถดูแลตัวเเอง และแนะนำคนใกล้ตัวหรือคนรอบข้างได้เป็นอย่างดีค่ะ

    Leave a Reply

    Your email address will not be published. Required fields are marked *